ม.หอการค้าฯ ปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 1.1% คาด Q1/63 มีโอกาสติดลบ -0.5% ก่อนฟื้นบวกใน Q2/63 เชื่อยังไม่ถดถอย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 12, 2020 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ม.หอการค้าไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงจากประมาณการครั้งก่อน (ม.ค.63) โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1.1% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2.8% ขณะที่การส่งออกพลิกมาติดลบ -1% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 0.8% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.7%

พร้อมคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะลดลงเหลือ 33.5 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ 41.4-41.8 ล้านคน เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 0.50-1.00%

นายธนวรรธน์ ระบุว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ระดับ 1.1% ถือว่าเป็น Scenario ที่มีโอกาสจะเป็นไปได้มากสุดที่ 55% ขณะที่กรณีแย่สุด คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 0.6% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ที่ 30% และกรณีดีที่สุดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 1.6% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้เพียง 15% นายธนวรรธน์ ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปีนี้มีโอกาสติดลบเล็กน้อยที่ -0.5% ส่วนไตรมาส 2 มีโอกาสจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยที่ 0.3-0.5% ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใดด้วย แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส และไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน

สาเหตุที่ทำให้ ม.หอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง เนื่องจากปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ต้องชะลอตัวลง 2.ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และอาจจะแย่กว่าในช่วงภัยแล้งปี 57-58 3.ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 4.ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย 5.ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินทำให้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และ 6.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน อย่างไรก็ดี ยังพอมีปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ สงครามการค้าเริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย, เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า, ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน, การลงทุนภาคเอกชนในพื้นที่ EEC มีสัญญาณที่ดีขึ้น และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย "จากปัจจัยลบ และปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อหักสุทธิออกมาแล้ว ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่าราว 2.8 แสนล้านบาท กดดัน GDP ปีนี้ลดลง 1.7% ส่งผลให้เราต้องปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือ 1.1% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ 2.8% เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา" นายธนวรรธน์กล่าว พร้อมกันนี้ ยังประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มี.ค. มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งที่ 0.25-0.50% เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงไปอย่างรวดเร็ว "รอบนี้ กนง. มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลงได้อีก 0.25-0.50% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพราะขณะนี้มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะซึมตัวลง" นายธนวรรธน์ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ