นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 13 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. สมาคมฯ จะนำความไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เพื่อดำเนินการวินิจฉัยและสั่งระงับการประมูลซื้อ-ขายกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 3 ราย ได้แก่ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ผลปรากฎว่า กลุ่มซีพี ชนะการประมูลซื้อเทสโก้-โลตัส ด้วยราคา 3.38 แสนล้านบาท โดยบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ถือ 40% กลุ่มซีพีถือ 60% (ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง 20%)
การเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ในกิจการของเทสโก้-โลตัสดังกล่าว อาจเข้าข่ายมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือตลาดได้ เนื่องจากกลุ่มซีพีมีกิจการโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ คือ บมจ. สยามแม็คโคร (MAKRO) อยู่แล้วซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 37.4% (ไทยมีโมเดิร์นเทรดเพียง 3 ราย คือ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) มีส่วนแบ่งตลาด 24.2% แม็คโคร มีส่วนแบ่งตลาด 37.4% และเทสโก้-โลตัส มีส่วนแบ่งตลาด 38.4%) และเมื่อเข้ามาซื้อกิจการของเทสโก้-โลตัส ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 38.4% ก็จะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 75.8% นอกจากนั้นยังมีร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีกขนาดเล็ก คือ 7-11 อีกนับพันแห่งทั่วประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2550 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด โดยกำหนดกรอบของคำว่า "ส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขาย" ไว้ดังนี้ (1) ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป หรือ (2) ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป เว้นแต่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในสามรายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าร้อยละ 10 และมียอดขายในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท
ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการเทสโก้-โลตัสของกลุ่มซีพี จึงอาจเข้าข่ายเป็น "ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด" ซึ่งขัดต่อ มาตรา 3 ประกอบ มาตรา 25 และ มาตรา 50 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า 2560 ได้ ทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดสามารถสร้างหรือทำลายการแข่งขันได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยและผู้บริโภคโดยตรง