นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ 5 มาตรการเยียวยาผลกระทบสายการบิน จากวิกฤติไวรัสโควิด -19 พร้อมทั้งเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ
พร้อมกันนั้นกระทรวงคมนาคมยังเตรียมเสนอมาตรการเยียวยาตามที่สายการบินเสนอขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องจอดอากาศยาน ภายหลังปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายจอดอากาศยานค่อนข้างมาก อีกทั้งเมื่อมีจำนวนสายการบินที่จอดงดให้บริการเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้หลุดจอดอากาศยานไม่เพียงพอ
"ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการจัดหลุมจอดอากาศยานให้กับสายการบินที่มีปัญหาพักเครื่องบิน โดยอาจจะต้องประสานขอความช่วยเหลือกับสนามบินอู่ตะเภา และต้องขอลดค่าจอดอากาศยาน 50% ด้วย เรื่องนี้จึงอยู่ระหว่างให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปหารือ หากดำเนินการได้ก็จะเสนอเข้า ครม. แต่หากไม่ได้ก็ต้องประสานให้ไปจอดสนามบินกรมท่าอากาศยาน (ทย.)"
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า นอกจากมาตรการเยียวยาสายการบินแล้ว กระทรวงฯ จะต้องเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ชดเชยรายได้ที่หายไปจากการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ประกอบไปด้วย ทย. เสนอขอรับเงินอุดหนุน 500 ล้านบาท และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ขอรับเงินอุดหนุน 700-1,000 ล้านบาท จากการนำรถโดยสารไปให้บริการรับส่งผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ หาก ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาทั้งหมด ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที เนื่องจากที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกับคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท และผู้มีอำนาจแล้ว ซึ่งมีผลให้ปฏิบัติมาตรการทั้งหมดตามที่สายการบินเสนอไว้
สำหรับ 5 มาตรการเยียวยาสายการบิน ประกอบไปด้วย 1.มาตรการลดค่าขึ้นลงอากาศยาน และที่เก็บอากาศยาน หรือ Landing-Parking ลง 50% ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.63 ให้กับทุกสายการบินไทย และต่างประเทศ 2.มาตรการปรับลดค่าบริการการเดินอากาศ แบ่งเป็นเที่ยวบินในประเทศลด 50% และเที่ยวบินระหว่างประเทศลด 20% โดยลดให้ทั้งสายการบินไทยและต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 63
3.มาตรการลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ 5 บาท จาก 15 บาท เหลือ 10 บาท ใช้กับทุกสายการบินไทย และต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.63 4.มาตรการลดค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน จะให้เฉพาะสายการบินของไทย และ 5.ขอขยายชำระภาษีสรรพสามิตน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งมีกำหนดถึง 30 ก.ย.นี้ จาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.2 บาทต่อลิตร ขยายไปถึง 31 ธ.ค.63