Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แล้ว ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ EIC มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความจำเป็นที่ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 25 bps ภายในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม นี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมตลาดในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง และเพื่อการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้
โดยนอกจากนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยแล้ว กนง. น่าจะใช้นโยบายอื่นประกอบเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ตัวอย่างเช่น
Forward guidance : EIC คาดว่า กนง. น่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ชัดเจนขึ้น เพื่อปรับมุมมองและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนและนักลงทุน โดยอาจมีการเน้นย้ำถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากต่อเนื่อง และจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น หรืออาจสื่อสารถึงเงื่อนไขที่จะทำให้ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะต่อไป เช่น ต้องเห็นสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายอย่างมีนัยสำคัญ หรือ เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (targeted soft loan) : ในช่วงที่ภาวะการเงินไทยตึงตัวขึ้นอย่างมากจากทั้งความผันผวนในตลาดทุน/ตลาดพันธบัตรที่ปรับสูงขึ้น การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปรับชะลอลง รวมถึงความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ EIC มองว่า ธปท. อาจดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเฉพาะจุด โดยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหารุนแรงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถดำเนินได้
ทั้งนี้พบว่าในอดีตที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยดำเนินนโยบายลักษณะนี้มาแล้ว โดยในช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วมปลายปี 2554 รัฐบาลได้มีการออก พ.ร.ก.อนุญาตให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ที่ 0.01% ต่อปี) แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมโดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี ซึ่งมาตรการในลักษณะนี้เป็นการช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินที่ตึงตัวเฉพาะจุดได้ดี (targeted measure)
นอกจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้ว EIC เชื่อว่าการผ่อนคลายนโยบายการคลังเพิ่มเติมน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ไทย ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงมากและความเสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ corporate spread โดยเฉพาะของกลุ่ม BBB ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจไทยที่ระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตร เนื่องจาก ต้นทุนในการต่ออายุพันธบัตรจะสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะไม่สามารถต่ออายุพันธบัตร (roll-over risk) และความเสี่ยงในการชำระหนี้ (default risk) ปรับสูงขึ้น
นอกจากนั้น ข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทยยังบ่งชี้ว่า ณ วันที่ 13 มีนาคม 2020 หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (non-investment grade: ต่ำกว่า BBB- ) และกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.3 แสนล้านบาท โดยภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนการออกพันธบัตรประเภทดังกล่าวมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (9.6 หมื่นล้านบาท) 2) ภาคบริการ (1.8 หมื่นล้านบาท) และ 3) ภาคการเงิน (1.0 หมื่นล้านบาท)
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนและมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีสภาพคล่องสูง มักพบว่าความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐ ในบางประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ เช่น ที่เกิดขึ้นใน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน สำหรับไทยนั้น ถึงแม้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังมีขนาดใหญ่ ทำให้ความเสี่ยงต่อไทยในขณะนี้อาจไม่น่ากังวลมากนัก แต่ EIC มองว่าจะต้องจับตามองในประเด็นนี้ต่อไป เนื่องจาก ในภาวะที่โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง ทำให้ ดุลบริการของไทยอาจปรับลดลงเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐภายในไทยได้