ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งแกร่ง รับข่าว FED เพิ่มสภาพคล่องในตลาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 12, 2008 07:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน และฟรังซ์สวิส หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการธนาคารเพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาด อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์และสกุลเงินยูโร  
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินปอนด์ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับ 2.0029 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 2.0101 ปอนด์/ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 104.17 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 102.40 เยน/ดอลลาร์ เมื่อเมื่อเทียบกับสกุลเงินฟรังซ์ ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.0337 ฟรังซ์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0185 ฟรังซ์/ดอลลาร์
ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.8021 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7886 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.9264 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9169 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
เฟดประกาศใช้มาตรการในการร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการธนาคารเพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาด โดยเฟดจะเพิ่มวงเงินกู้สูงสุดถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้โครงการ Term Securities Lending Facility (TSLF) โดยจะให้กู้ตราสารหนี้ได้นาน 28 วัน แทนการกู้แบบข้ามคืนซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เฟดจะขยายวงเงินกู้ยืมผ่านสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราแบบชั่วคราว (swap line) กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางสวิส โดยทำข้อตกลงกับอีซีบีในการเพิ่มวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และข้อตกลงกับธนาคารกลางสวิสเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกิน 6 พันล้านดอลลาร์จากปัจจุบันที่ 2 พันล้านดอลลาร์
เดวิด กิลมอร์ นักวิเคราะห์จากฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ อนาไลติก ในรัฐคอนเน็กติกัตกล่าวว่า "ดอลลาร์สหรัฐได้รับปัจจัยบวกจากข่าวเฟดเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยคลี่คลายวิกฤตสภาพคล่องทั้งในตลาดทุนและตลาดปล่อยกู้จำนอง นอกจากนี้ มาตรการล่าสุดของเฟดยังช่วยลดแรงเสียดทานจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น แต่เป็นปัจจัยลบต่อตลาดปริวรรตเงินตรา"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ