นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้มีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องในการส่งออก ซึ่งจากเดิมจะต้องส่งสินค้ากุ้งมีชีวิตไปทางเครื่องบิน อาจเปลี่ยนเป็นส่งออกโดยรถและเปลี่ยนเป็นกุ้งแช่แข็ง หรือ กุ้งต้ม
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการแสวงหาตลาดใหม่ทดแทน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และในอนาคตน่าจะสามารถขยายตลาดการส่งออกสินค้าประมงได้ในอีกหลายประเทศ ซึ่งกรมประมงคาดหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุด และสามารถช่วยระบายผลผลิตของเกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง
"จากสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศจีนและลุกลามไปทั่วโลก จนส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก รวมถึงธุรกิจภาคการประมงที่หลังเกิดสถานการณ์การระบาด ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาส่งผลให้การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าประมงไทย เกิดการชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ประเทศจีน เนื่องจากสินค้าประมงที่ส่งออกไปยังจีนนั้นมีทั้งสินค้าแบบมีชีวิตและสดแช่แข็ง ซึ่งเมื่อประเทศจีนได้ประกาศปิดเมือง อีกทั้งเรายังมีมาตรการระงับหรือลดเที่ยวบินที่เดินทางเข้าออกประเทศจีน เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค"
ดังนั้น การส่งออกสินค้าประมงไปจีนจึงเสียหายอย่างหนักทันที เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้ากุ้งมีชีวิตและสดแช่เย็น ซึ่งต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง และต้องใช้บริการการขนส่งทางอากาศเท่านั้น โดยจากการประเมินเบื้องต้น ผลกระทบต่อการส่งออกไปจีนในช่วงระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.63 การส่งออกกุ้งมีชีวิตและสดแช่เย็นจะลดลงจำนวน 1,500-2,900 ตัน มูลค่ากว่า 340-650 ล้านบาท