ครม.อนุมัติงบกลาง 17,310 ลบ.ใช้แก้ปัญหาโควิด-19, ภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 17, 2020 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง จำนวน 17,310 ล้านบาท สำหรับใช้ในการแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

โดยในการแก้ปัญหาโควิด-19 แบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย คือ จัดสรรให้กับโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบของส่วนงานราชการต่างๆ จำนวน 9,002 ล้านบาท เช่น กระทรวงสาธารณสุข 5,488 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,551 ล้านบาท กรมควบคุมโรค 520 ล้านบาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,260 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 108 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับ 11 โรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยที่ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไปดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้ง 11 โรงงาน

นอกจากนี้จะจัดสรรให้กับโครงการการจ้างงานให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่รระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้อีก 2,700 ล้านบาท ระยะเวลาในการจ้างงานไม่เกิน 6 เดือน อัตราค่าจ้างกำหนดไว้ไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานงานกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 โรงทั่วประเทศในการปรับไลน์การผลิต จากเดิมที่ทั้ง 11 โรงงานมีอยู่ที่ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน แต่สามารถเพิ่มได้ถึง 1,760,000 ชิ้นต่อวัน โดยจำนวนที่ผลิตเพิ่มขึ้นจะจัดสรรให้หน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ เช่น กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับได้การจัดสรร 1 ล้านชิ้นต่อวัน จากเดิมที่ได้รับการจัดสรร 7 แสนชิ้นต่อวัน และกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปจัดสรรต่อให้กับโรงพยาบาลภายใต้สังกัด 5 แสนชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 7 หมื่นชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลที่สังกัดมหาวิทยาลัยและคณะทันตแพทย์ 1 แสนชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลเอกชนและคลีนิคเอกชน 2 แสนชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลในสังกดักรุงเทพมหานคร 8 หมื่นชิ้นต่อวัน และจัดสรรตามมาตรการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 5 หมื่นชิ้นต่อวัน

ขณะที่หน้ากากอนามัยที่เป็นของกลางที่ยึดมาได้จากผู้ที่ขายเกินราคานั้น จะนำมาจัดสรรให้โรงพยาบาล โดยถ้าศาลมีคำสั่งให้คืนของกลางกลับไป รัฐบาลจะจ่ายเป็นเงินเพื่อนำหน้ากากเหล่านั้นมาจัดสรรให้ส่วนงานที่มีความต้องการใช้ก่อน

ส่วนปัญหาการกักตุนสินค้าหรือการขายสินค้าเกินราคานั้น วันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกักตุนสินค้าและการขายสินค้าเกินราคา ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะแบ่งเป็นทั้งส่วนกลางและในระดับจังหวัดด้วยเพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยในส่วนของระดับจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการเป็นประธานคณะกรรมการ และประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัด เจ้าหน้าที่ปกครองในระดับท้องที่และท้องถิ่น ตำรวจ กอ.รมน.จังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ