Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ หรืออย่างช้าภายในไตรมาส 2 ปีนี้ และอาจมีมาตรการด้านอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม และความเสี่ยงด้านต่ำของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น โดยภาวะการระบาดของโควิด-19 ในไทยล่าสุดที่เริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้ EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจหดตัวมากกว่าประมาณการเศรษฐกิจในกรณีเลวร้ายที่ -2.0% YOY ซึ่งเป็นการหดตัวที่มากกว่าที่คาดไว้เดิมมาก
ขณะที่ภาวะการเงินยังคงตึงตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาภาวะการเงินของไทยตึงตัวเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนมีแนวโน้มที่จะติดลบในปีนี้ ตามราคาพลังงานที่ลดลง รวมถึงการชะลอตัวลงของอุปสงค์ในประเทศ), การระดมทุนที่ถูกเลื่อนออกไปหรือทำได้ยากขึ้นทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น รวมถึงการชะลอตัวลงของสินเชื่อ ดังนั้น EIC จึงประเมินว่า กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อเป็นการผ่อนคลายภาวะการเงิน
แม้จะมีการออกมาตรการส่งเสริมสภาพคล่องและเสถียรภาพในตลาดพันธบัตรแล้ว กนง.อาจต้องลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูง แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในวันที่ 23 มี.ค.63 จะปรับลดลงมาบ้าง EIC มองว่า กนง.ยังอาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมเพื่อกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงอีกต่อเนื่อง และให้อัตราดอกเบี้ยที่เสนอโดยธนาคารพาณิชย์ลดลงเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยต่อไป
ความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ไทยปรับสูงขึ้นบ้างสะท้อนจาก corporate spread ที่เพิ่มขึ้น การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจึงอาจช่วยลดความยากลำบากแก่บริษัทที่จะต้องต่อหุ้นกู้ได้บ้าง โดย EIC พบว่า corporate spread ในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่ม BBB ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนความเสี่ยงที่มีมากขึ้นตามแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจไทย EIC จึงได้ใช้ข้อมูลจากสมาคมตราสาหนี้ไทยเพื่อศึกษาความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ (roll-over risk) พบว่า ในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ปี 2563 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนดอายุไถ่ถอนทั้งสิ้น 5.59 แสนล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ลงไปคิดเป็น 1.47 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ EIC มองว่าการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนน่าจะช่วยลดความเสี่ยงด้านนี้ลงได้บ้าง โดยเฉพาะในภาวะที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและมีความต้องการเข้าซื้อหุ้นกู้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือต่ำลดลง ทั้งนี้ยังคงต้องจับตามองหากมีความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
นอกจากนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยแล้ว กนง.น่าจะใช้นโยบายอื่นประกอบเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ตัวอย่างเช่น การใช้ Forward guidance ในการสื่อสารถึงมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปที่ชัดเจน ซึ่งอาจรวมไปถึงจุดต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ กนง. ประเมิน หรือเงื่อนไขที่จะทำให้ กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ทั้งขาขึ้นและขาลง) นอกจากนี้ อีกมาตรการหนึ่งที่ กนง. สามารถนำมาใช้ได้คือ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (targeted soft loan) ผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อให้นำไปปล่อยให้แก่ภาคธุรกิจหรือครัวเรือนที่เผชิญปัญหาด้านสภาพคล่องในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 นี้ ซึ่ง EIC มองว่าการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนี้จะเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากมาตรการนี้จะเป็นการส่งเสริม (เพิ่ม incentive) ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อมากขึ้น (เพราะต้นทุนด้านดอกเบี้ยของโครงการจะอยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดเงิน) ซึ่งจะทำให้สินเชื่อในระบบไม่หยุดชะงักลงในภาวะที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง สำหรับมาตรการด้านอื่น ๆ นั้น EIC เชื่อว่าการผ่อนคลายนโยบายการคลังเพิ่มเติมน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
แม้สภาพคล่องดอลลาร์ในตลาด swap ไทยจะปรับตึงตัวขึ้น แต่ EIC มองว่าจะไม่เป็นปัญหาสำคัญของตลาดเงินไทย เนื่องจากยังมีสภาพคล่องดอลลาร์ที่เพียงพอ สะท้อนจากเงินทุนสำรองและดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีขนาดใหญ่ อีกประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไปคือสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาด swap ซึ่งพบว่าเริ่มปรับตึงตัวขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน ธปท. ได้เข้าทำธุรกรรมเสริมสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐ หลังพบว่า basis swap ของเงินบาทต่อดอลาร์สหรัฐปรับลดลงมา
อย่างไรก็ดี EIC มองว่าภาวะขาดแคลนสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในตลาดเงินไทยจะยังไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับในอดีตและเมื่อเทียบกับในตลาดเงินของประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ใหญ่ และมีหนี้ต่างประเทศในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ไม่สูงมาก ทำให้สภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังไม่ตึงตัวนัก สำหรับในระยะต่อไป ธปท.น่าจะยังคงอัดฉีดสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ตลาด swap หากยังคงมีสัญญาณที่ตึงตัวและ basis swap ยังลดต่ำลง