นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ปรับปรุงโครงสร้างและหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ให้ลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs)/วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูงหรือที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ โดยร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียนของกิจการ และให้มีคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุนทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการลงทุนและกำกับดูแลการลงทุนของกองทุน
เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (16 ธ.ค.57) เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) ซึ่งมีลักษณะเป็นกองทุนเปิดประเภททรัสต์ และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ขนาดของกองทุน 10,000-25,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการร่วมลงทุนจากภาครัฐ 10-50% ส่วนที่เหลือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมลงทุน โดยจะแบ่งการลงทุนเป็นกองทุนย่อย ๆ และเรียกระดมทุนครั้งละไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ต่อกองทุนย่อย และกองทุนย่อยแต่ละกองทุนจะมีนโยบายในการลงทุนตามแต่ละประเภท/กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก และมีคณะกรรมการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารงานของกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs โดยแหล่งเงินลงทุนในส่วนของภาครัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในฐานะภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเริ่มแรกเป็นจำนวน 500 ล้านบาท
ต่อมา ธพว. ได้จัดตั้งกองทุนย่อยกองที่ 1 วงเงิน 500 ล้านบาท (ธพว. 490 ล้านบาท และบริษัท ไทยเอชแคปปิตอล 10 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวนกิจการที่ผ่านการอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว จำนวน 8 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 98 ล้านบาท และมีกิจการที่ได้ร่วมลงทุนแล้ว 2 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 39 ล้านบาท
แต่จากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ธพว. พบว่า หลักการการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของ ธพว. ดังนี้
1) การกำหนดวงเงินลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละรายขาดความยืดหยุ่นและไม่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้บางกิจการที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด หรือกรณีที่มีผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนที่ได้กำหนดไว้ จะไม่สามาถเข้าร่วมลงทุนได้
2) ผู้จัดการทรัพย์สินหรือ/ผู้จัดการทรัสต์จะคัดเลือกเฉพาะกิจการที่ได้ผลตอบแทนดีหรือคัดเลือกตามที่ผู้จัดการทรัสต์สนใจ กิจการที่ดีแต่ไม่อยู่ในความสนใจจึงไม่ถูกคัดเลือกมานำเสนอ
3) การบริหารจัดการกองทุนขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุน นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยที่ 1) วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีการร่วมลงทุนในกิจการ SMEs เพียง 2 กิจการ รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 39 ล้านบาท อีกทั้งหากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนย่อยกองที่ 1 กับกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs อื่น ซึ่งจัดตั้งโดยสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเห็นได้ว่าหลักการลงทุนมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับเป้าหมายมากกว่า จึงมี SMEs ที่ได้เข้าร่วมลงทุนค่อนข้างมาก
ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของ ธพว. และเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีโอกาสได้รับการสนับสนุนการลงทุนเพิ่มขึ้น ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 [เรื่อง การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยกเว้นกองทุนย่อยกองที่ 1 ที่ ธพว. ได้จัดตั้งแล้ว วงเงิน 500 ล้านบาท ให้ดำเนินการต่อไป
โดยปรับปรุงโครงสร้าง และหลักการกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) ให้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุน และรูปแบบกองทุนให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการร่วมลงทุนในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) ได้มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนย่อยกองที่ 1 ดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 25/2562 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562