นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า จากการประกาศปิดให้บริการศูนย์การค้าและธุรกิจบางประเภทในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและบางจังหวัดเป็นการชั่วคราวเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอดจนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 60-65% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวม (GDP) ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว เป็นสัดส่วน 72% ของ GDP ทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว ดังนั้น ประเมินว่าหากสถานการณ์คลี่คลายได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ จะส่งผลกระทบต่อ GDP ในปี 63 อยู่ในช่วง –2% ถึง -3%
ทั้งนี้ ประเมินว่าปริมาณจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะลดลง 10-13 ล้านคน หรือประมาณ 30% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน และการท่องเที่ยวในประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน คาดว่าส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ลดลง 5-6.5 แสนล้านบาท เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด มีเพียงจีนที่เริ่มควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้แล้วและเริ่มเข้าสู่ช่วงการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสามารถการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนคือปัญหาหนี้ครัวเรือน โดย ณ สิ้นปี 62 มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือน 79.3% ของ GDP หรือประมาณ 13.5 ล้านล้านบาท และหากนับรวมตัวเลขหนี้นอกระบบคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงกว่า 100% ของ GDP ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล
นายมนตรี กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลกระทบรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อเป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยการใช้เงินอัดฉีดจากทุกภาคส่วนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4-5% ของ GDP หรือประมาณ 6.5 แสนล้านบาท เช่น งบจากกองทุนประกันสังคม, สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ฯลฯ เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ติดลบไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบกลางเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
และจำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ ตลอดจนแรงงานทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคมในช่วงที่นายจ้างหยุดกิจการ ได้แก่ 1.การให้ความช่วยเหลือแรงงานที่มีประกันสังคมและแรงงานที่เป็นผู้ประกันตน โดยอาจใช้เงินสะสมในกองทุนประกันสังคมของแรงงานละแต่ละรายเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ส่วนแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมจำเป็นต้องพึ่งพามาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐโดยผ่านธนาคารออมสิน เป็นต้น
2.ภาคการเกษตร โดยสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารออมสิน สามารถให้ความช่วยเหลือด้านการแบ่งเบาภาระ 3.ภาคธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นที่รัฐบาลและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) และธนาคารออมสิน จะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในช่วงที่ธุรกิจต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราว
นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.75% ในการประชุมนัดพิเศษ ก็จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการได้
ส่วนในระยะกลาง รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5.5 แสนล้านบาท ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีกกว่า 6 เดือนของปีงบประมาณ 2563 และเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อให้เงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากการลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ
"ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยจะต้องลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกและมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการพึ่งพาการบริโภคในประเทศ เพื่อปรับสัดส่วนรายได้ระหว่างการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศอยู่ในระดับ 50:50 จากปัจจุบันที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก 72% และในประเทศ 28%" นายมนตรี กล่าว