นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์สินค้าและบริการต่างๆ (วอร์รูม) ประกอบด้วยหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน รวม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ซึ่งมีทั้งบะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นต้น 2.ข้าว 3.ปศุสัตว์ ประกอบด้วย ไก่ ไข่ หมู กุ้ง เป็นต้น 4.ผลไม้ 5.วัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เป็นต้น 6.เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย และ7.บริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน (ดิลิเวอร์รี่) เพื่อให้ประชาชนมีสินค้าที่มีคุณภาพ และเพียงพอกับความต้องการในประเทศในช่วงการระบาดของโควิด-19
"วอร์รูมทั้ง 7 ชุด จะประชุมร่วมกันเพื่อติดตามสถานการณ์ผลิต การแปรรูป การค้า การส่งออก การกระจายสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ดีลิเวอร์รี่ รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวก และจะต้องนำข้อสรุปทั้งหมดมาเสนอต่อที่ประชุมกรอ.พาณิชย์ ภายใน 2-3 วันนี้ ก่อนที่จะกำหนดเป็นมาตรการดำเนินการ เพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนในช่วงของการระบาด เช่น บางสินค้าอาจมีการกันสำรองไว้บางส่วน เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น"
สำหรับปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปสู่ศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) และจากดีซีไปสู่สาขาของห้างต่างๆ นั้น ผู้ผลิตทุกกลุ่มปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะประสานกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการขนส่ง รวมถึงผ่อนผันระยะการห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ามาเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นในด้วย เพื่อให้การกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ได้เชิญ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ที่มีการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน อย่าง แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, กลุ่มดีลิเวอร์รี่ อย่าง Line Man, GrabFood , Lalamove เป็นต้น รวมถึงกลุ่มสมาร์ทโชห่วย มาหารือเรื่องการจัดส่งสินค้า และปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ