คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม โดยภายใต้สถานการณ์ข้างต้น กนง.คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 5.3% ในปี 63 ก่อนจะกลับมาขยายตัว 3% ในปี 64
ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หากโควิด-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง
อย่างไรก็ดี แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรคโควิด-19
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า ในด้านการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มหดตัวแรง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะลดลง -8.8% แต่จะกลับมาขยายตัวได้ในปี 64 ที่ 0.2%
การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลง -1.5% ตามปัจจัยด้านรายได้ การหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายนอกบ้าน และปัญหาภัยแล้ง ก่อนจะกลับมาทรงตัวในปีหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.1% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลง -4.3% ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แต่จะค่อยกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า ที่ 2.2% ส่วนการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐในปีนี้ แม้คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.8% แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะลดลง -1.0% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี 63 และ 64 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากคาดการณ์ราคาพลังงาน และเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดไว้เดิมมาก
"กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะหดตัว -5.3% จากภาคการส่งออกสินค้าและบริการ และการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แต่การหดตัวดังกล่าว จะเป็นภาวะชั่วคราว คาดว่าปีหน้าจะเติบโต้เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น...ประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าว ยังไม่ได้รวมมาตรการการเงิน และมาตรการการคลังที่จะได้ออกมาเพิ่มเติมในระยะถัดไป" นายดอนระบุ