นพ.บูรณัชย์ สมุทรักษ์ รมว.สาธารณสุขเงา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนะให้ใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2542 เพื่อให้บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด ยกเลิกการผูกขาด เพื่อแก้ปัญหายาราคาแพง นอกเหนือจากการประกาศบังคับใช้สิทธิ์ผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล)
"ทุกประเทศมีสิทธิ์ประกาศใช้ซีแอลในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น อย่างกรณีการใช้ซีแอลยารักษาโรคเอดส์ หรือยารักษาโรคมะเร็งบางตัว แต่การใช้ซีแอลมีทั้งผลดีและผลเสีย ผมเห็นว่า กระทรวงพาณิชย์น่าจะใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้ามากกว่า โดยหากเห็นว่า บริษัทยารายใดมีอำนาจเหนือตลาดและมีพฤติกรรมผูกขาด ก็ใช้กฎหมายจัดการ แต่ผู้ใช้กฎหมายจะต้องเป็นกลาง และไม่ถูกอำนาจใดๆ ครอบงำ" นพ.บูรณัชย์กล่าวภายหลังการหารือกับพ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์
นอกจากนี้ ยังอาจใช้เวทีการเจรจาระหว่างประเทศจัดตั้งวิสาหกิจร่วมซื้อ โดยร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับบริษัทยา หรือสนับสนุนให้คนไทยผลิตยาได้เอง โดยนำเอาสิทธิบัตรยาที่ใกล้จะหมดระยะเวลาการคุ้มครองมาให้คนไทยผลิต เป็นต้น ส่วนกรณีที่สหรัฐฯอยู่ระหว่างทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้า และจะประกาศผลการในเดือนเม.ย.นี้นั้น น่าจะคงสถานะไทยไว้ที่ประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) เหมือนเดิม
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) อาจฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ระบุว่า ไทยใช้ซีแอลอย่างไม่โปร่งใสว่า หากทั้ง 2 ประเทศฟ้องดับบลิวทีโอจริง ไทยก็สามารถต่อสู้ได้ และมั่นใจว่าจะชนะคดี เพราะพบว่า บริษัทยาบางราย ที่ขายยาให้ไทยมีการใช้อำนาจเหนือตลาด และผูกขาดทางการค้า ถือเป็นการใช้มาตรการที่เป็นเอกภาคี และกีดกันการค้า ขัดต่อบทบัญญัติดับบลิวทีโอ
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--