นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มี.ค.63 พบว่า แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ แม้ว่าความเชื่อมั่นจะลดลงจากเดือนก่อนหน้า
-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ยังขยายตัวได้แม้จะชะลอลงกว่าเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคการบริการ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ดี ยังควรเฝ้าระวังในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 46.4 สะท้อนถึงการคาดการณ์การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากระบบชลประทานมีการปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำนาทำไร่ ทำให้ภาคเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการจ้างงานหดตัวลงน้อยกว่าด้านอื่น ๆ
-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 41.3 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอตัวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรบางชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมีการช่วยเหลือของภาครัฐในการประกันรายได้ สอดคล้องกับการจ้างงานที่หดตัวลงไม่มากนัก
-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 41.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยแสดงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการยังชะลอการลงทุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน
-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 39.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอตัวลงในภาพรวม แต่ยังมีภาคเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจากนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลทำให้ทิศทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรมีเสถียรภาพมากขึ้น และภาคอุตสาหกรรมแสดงแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าภาคการผลิตอื่น ๆ
-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 38.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยแสดงแนวโน้มการชะลอตัวในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ
-ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 36.1 หดตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยแสดงแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคบริการที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก