นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง พร้อมด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ซึ่งจะเป็นชุดมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากวิกฤติผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะเป็นมาตรการชุดใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย และระบบการเงิน การลงทุน รวมถึงสถาบันการเงิน การลงทุนในตลาดทุน และหุ้นกู้ เป็นต้น
ส่วนงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไร เพราะยังอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ แต่ยืนยันว่าจะใหญ่กว่า 2 ชุดมาตรการที่เคยออกมาก่อนหน้านี้รวมกัน โดยจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด
"ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 นี้ จะมีขนาดที่เหมาะสม และมีความจำเป็นสำหรับดูแลเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ทั้งการดูแลเยียวยาประชาชน ดูแลเยียวยา และสนับสนุนผู้ประกอบการ ดูแลระบบการเงินการลงทุนทั้งหมด ถือเป็นชุดมาตรการใหญ่ที่เตรียมจะออกมา ซึ่งจะมีมาตรการเป็นส่วน ๆ อยู่ภายใต้ชุดมาตรการดังกล่าวว่าแต่ละเรื่องจะดูแลอะไร อย่างไรบ้าง ตรงนี้ถือเป็นงานเร่งด่วนของกระทรวงการคลัง" รมว.คลังกล่าว
พร้อมยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ที่ผ่านมา รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพื่อดูแลถึง 2 ชุด เพราะรัฐบาลต้องการดูแลช่วยเหลือ เยียวยา และประคับประคองเศรษฐกิจตั้งแต่ระยะต้นของการแพร่ระบาด และยังมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้ จะไม่ทำให้รัฐบาลถังแตกแน่นอน เพราะการจัดสรรงบประมาณสำหรับชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจทั้งที่ได้ออกมาแล้ว และกำลังจะออกมาในอนาคตนั้น สำนักงบประมาณได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและรัดกุม
"ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีถังแตกแน่นอน และยืนยันอีกเรื่องว่า ไม่มีแน่นอนที่รัฐบาลจะกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไม่มีเรื่องนี้เช่นกัน รัฐบาลมั่นใจว่าสามารถหาแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งจากงบประมาณและเงินส่วนอื่นที่จะเข้ามาเสริม ซึ่งยังมีเพียงพอ ไม่ต้องกู้ IMF ไม่ได้ถังแตก ทุกอย่างมีการพิจารณาอย่างรัดกุม และดูให้สอดคล้องกันทั้งหมด โดยยืนยันว่าปัจจุบันรัฐบาลดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ทำให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลยังมีกำลังที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดต่อไปได้อย่างแน่นอน" นายอุตตม กล่าว
ส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาทางเลือกทั้งหมด ส่วนที่มีการเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.โอนงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดูแลระบบเศรษฐกิจนั้น รมว.คลัง ระบุว่า ยังไม่อยากให้คิดว่าจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อมาทดแทนอีกอย่างหนึ่ง เพราะตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดูทางเลือก โดยเฉพาะสำนักงบประมาณที่มีการประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด ว่าจะใช้งบประมาณส่วนใดในการจัดการวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้ได้บ้าง ดังนั้นจึงไม่มีการโยกงบประมาณเพื่อมาทดแทนส่วนที่ต้องทำตอนนี้
สำหรับข้อเสนอของธุรกิจการบิน ในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อใช้ในการดูแลสภาพคล่องในการทำธุรกิจนั้น สามารถเข้ามาใช้ซอฟท์โลน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินดำเนินการอยู่ในขณะนี้ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลได้ออกมาเพื่อช่วยดูแลภาคธุรกิจในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว
อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถตอบได้ว่าภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะไปจบที่ไหน เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเดินต่อไปถึงไหน หรือว่าจะจบอย่างไร ผลกระทบจะไปถึงไหน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแน่นอน
ส่วนตัวเลข GDP ปีนี้ที่ ธปท.ประเมินว่าจะหดตัว -5.3% นั้น เป็นเรื่องที่สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้มีความซีเรียส รุนแรง รัฐบาลอยากให้ทุกส่วนมองภาพเศรษฐกิจขณะนี้ให้ลึกลงไปว่าสิ่งที่เกิดตอนนี้ไม่ใช่ความผิดใคร การเยียวยา ดูแล บรรเทา ประคองนั้น รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น และประเทศไทยมีความพร้อมจากมาตรการที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ทันที