นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 57 ต่ำกว่าไตรมาสที่ 4/2563 ที่ระดับ 88 ถือเป็นการลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี
โดยปัจจัยหลักที่กระทบต่อความเชื่อมั่นดังกล่าว ได้แก่ ปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ในเดือนก.พ.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงประมาณ 43% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าสถานการณ์จะยังคงรุนแรงต่อไปอีก โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมากกว่า 80% ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วก่อนเกิดการระบาด ซึ่งผลกระทบดังกล่าวกระทบต่อนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ต่างจากในไตรมาส 4/62 ที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง สาเหตุหลักมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ลดลง
ในส่วนของการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ขณะสำรวจพบว่าพบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด และพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ (40%) คาดว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายในไตรมาสที่ 3 (คาดว่าประมาณตุลาคม 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยในภาวะเกือบปกติ) อย่างไรก็ตามข้อมูล ดังกล่าวเป็นการสำรวจถึงวันที่ 10 มี.ค. 2563 ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ระบาดในประเทศยังไม่รุนแรงส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลรองลงมา ได้แก่ปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายชัยรัตน์ คาดว่าในไตรมาส 1/63 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.70 ล้านคน ลดลง 37.96% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดเริ่มรุนแรงในปลายเดือน ก.พ.63 และคาดว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 343,130 ล้านบาท ลดลง 38.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
ทั้งนี้หากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายได้เร็วภายใน 6 เดือน ภายในสิ้นปี 2563 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 26.59 ล้านคน ลดลง 33.19% จากปี 2562 และคาดว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลง 36.38% จากปี 2562
ทั้งนี้ สทท.ขอเสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดด้วยวิธีจำกัดการเดินทาง และใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน บังคับให้ประชาชนผู้เดินทางไปในพื้นที่สาธารณะใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยแบบต่างๆ เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของโรค พร้อมทั้งกระชับงานด้านสื่อสารมวลชนให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือทุกภาคส่วน ในส่วนของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเตรียมมาตรการการด้านเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า และเร่งเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการด้านต่างๆ อย่างเร่งด่วนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หลังสถานการณ์ระบาดผ่านพ้นไป