นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม เห็นชอบที่จะให้นำเสนอมาตรการดูแลค่าเงินบาท 6 ข้อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันพรุ่งนี้ โดยในจำนวนดังกล่าว 4 มาตรการจะสามารถดำเนินการได้ทันที
ส่วนอีก 2 มาตรการยังต้องหารือในรายละเอียด คือ มาตรการให้ผู้ส่งออกสามารถทำธุรกรรมเป็นดอลลาร์ และ มาตรการจัดตั้งกองทุนขนาด 5 พันล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งต้องกำหนดรายละเอียดของผู้ประกอบการที่จะสามารถขอใช้เงินกองทุนดังกล่าวเป็นทุนหมุนเวียน โดยประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมจะหารือรายละเอียดของกองทุนดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค.
"ใน 5 พันล้านบาทจะกันออกมา 500 ล้านบาทให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหา NPL แต่มีออร์เดอร์อยู่ โดยธปท.จะจ่ายเงินสมทบ 2.7 พันล้านบาท สมาคมธนาคารไทย 2.3 พันล้านบาท"นายโฆสิต กล่าว
ส่วนการขยายโอกาสการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศให้กว้างขึ้นแต่มีคุณภาพนั้น รายละเอียดเรื่องนี้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะหารือรายละเอียดกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันพรุ่งนี้
นายโฆสิต กล่าวว่า หลังจากประกาศมาตรการต่าง ๆ ไปแล้ว คงไม่จำเป็นต้องประเมินผล เพราะสถานการณ์จะฟ้องทันทีว่ามาตรการที่ประกาศได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่สิ่งที่รัฐบาลจะดู คือ จะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีมาตรการออกไปแล้ว หากปัญหายังไม่ผ่อนคลายลงรัฐบาลก็พร้อมจะนำมาตรการอื่น ๆ ออกมาประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง
"เราก็มีเครื่องมือเยอะที่สุดที่จะนำออกมาใช้เมื่อจำเป็น ถ้าเราหมดไต๋ก็เสร็จ เรื่องนี้เป็นสงครามยืดเยื้อ ไม่ใช่แค่ศึกที่มีจุดจบว่าแพ้ชนะ" นายโฆสิต กล่าว
นายโฆสิต กล่าวต่อว่า ไม่สามารถบอกได้ว่ามาตรการที่นำออกมาใช้เป็นมาตรการที่แรงหรือไม่ เพราะการแก้ไขปัญหาแต่ละสถานการณ์มีความแตกต่างกัน ก็จะต้องมีแนวทางแก้ไขออกมาแตกต่างกัน เพราะหากรัฐบาลเห็นว่ามาตรการใดแรงแล้วนำออกมาใช้แต่ไม่ได้ผลจะเป็นการฟ้องว่ารัฐบาลไม่รอบคอบ
*"สมภพ"ชี้มาตรการแก้บาทแข็งเห็นผลไม่ทันปีนี้ คาดหลายปัจจัยดันบาทแข็งต่อ
นายสมภพ มานะรังสรรค์ หนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่รัฐบาลรับข้อเสนอจากภาคเอกชนทั้ง 6 ข้อนั้นถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่มองว่ายังล่าช้าไป เพราะรัฐบาลน่าจะดำเนินการมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว
ทั้งนี้ แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ดีและสามารถช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทได้ แต่เชื่อว่าคงจะไม่สามารถเห็นผลได้ทันภายในปีนี้ที่เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าลงอยู่ที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์ แต่คงจะเห็นผลได้ในระยะกลางไปจนถึงระยะยาว
นายสมภพ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาหากสามารถรักษาเสถียรภาพของเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากไปกว่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากขณะนี้มีตัวแปรสำคัญอีกหลายประการที่อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก เช่น จีนเทขายดอลลาร์และหันไปเก็งกำไรค่าเงินยูโรมากขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นราคา ซึ่งประเทศผู้ผลิตน้ำมันเมื่อได้เงินดอลลาร์มากขึ้นก็จะกระจายความเสี่ยงด้วยการไปลงทุนในประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นประเทศไทย
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาตรการเสริมอื่นๆ เข้ามาดูแลเพิ่มเติมด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--