รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ขยายขอบเขตมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) ให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง
1. ปรับเงื่อนไขวงเงินให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงิน (สง.) ให้ครอบคลุมธุรกรรมดังนี้
1.1 กรณี สง. เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ MMF และ Daily FI ทุกกองทุน ที่ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้สกุลเงินบาทหรือสกุลต่างประเทศ Investment Grade ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป
1.2 กรณี สง. ทำธุรกรรม repo กับ บลจ. โดยมีสินทรัพย์ของกองทุนรวม MMF หรือ Daily FI จากกองใดก็ได้ เป็นหลักประกัน
1.3 กรณี สง. ซื้อสินทรัพย์จากกองทุนรวม เช่น ตราสารหนี้ภาคเอกชน
1.4 กรณี สง. ปล่อยสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ปิดกองไปแล้ว (โดยที่สถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับ บลจ. ที่บริหารกองทุนรวมนั้น)
2. ขยายประเภทสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินใช้เป็นหลักประกันในการขอรับสภาพคล่องกับ ธปท. ผ่านธุรกรรม repo เป็นดังนี้
2.1 หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ MMF และ Daily FI ทุกกองทุน ที่ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้สกุลเงินบาทหรือสกุลต่างประเทศ Investment Grade ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป
2.2 สินทรัพย์ List 1-2 ตาม พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 41 เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนี้ภาคเอกชนสกุลเงินบาท อันดับเครดิตไม่ต่ำกว่า A
2.3 ตราสารหนี้ภาคเอกชนสกุลเงินบาท ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป
การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมตราสารหนี้ผ่านสถาบันการเงิน (MFLF) สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงมิให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมภายใต้สถานการณ์ที่สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ตึงตัวและกลไกตลาดการเงินทำงานต่างจากปกติ
ทั้งนี้ ธปท. พร้อมพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินจะกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาความสามารถของตลาดการเงินในการเป็นช่องทางการระดมทุนให้กับภาคเศรษฐกิจ และดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ