นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า สถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระบาดนั้น ส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ดีป้าเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ ในหลายกิจกรรม แต่ในสภาวะแบบนี้ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ และ การขยายธุรกิจพอสมควร ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จึงได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพ โดยปรับงบประมาณปี 63 นำร่อง 90 ล้านบาท ส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup) ภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล depa Digital Startup Fund ตั้งเป้าส่งเสริมทั้งสิ้น 47 ราย ครอบคลุม 6 เทคโนโลยีตอบโจทย์ประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เทคโนโลยีเพื่อการเงินและการธนาคาร และ เทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ รวมถึง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
"การออกมาตรการครั้งนี้เปิดการขานรับโจทย์ในการเร่งช่วยเหลือกลุ่มดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย โดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีคำสั่งให้ดีป้าเร่งหามาตรการฟื้นฟูและเยียวยาโดยเร็ว ดีป้าจึงได้รื้องบปรับแผนทันที โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับทุกฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล เริ่มต้นที่กลุ่มสตาร์ทอัพ และ ยังมีเตรียมแผนปล่อยมาตรการเพื่อสู้ภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งสำหรับกลุ่ม SMEs ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ชุมชน เกษตรกร บุคลากรดิจิทัล คนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าเกษียณอายุ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในสถานการณ์แบบนี้เรายิ่งต้องร่วมมือกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ไปให้ได้อย่างเจ็บน้อยที่สุด" ผอ.ใหญ่ดีป้า กล่าวเสริม
สำหรับการประกาศรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการส่งเสริม ภายใต้มาตรการ depa Digital Startup Fund นั้น มีแบ่งออกเป็น 2 รอบ ดังนี้ 1) โครงการที่มีเป้าหมายการดำเนินการทั่วประเทศ ใน 6 เทคโนโลยีดิจิทัลสาขาเป้าหมาย และการพัฒนาโซลูชั่นตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะ จำนวน 17 ราย แบ่งเป็น ระยะก่อตั้งธุรกิจ (S2) 11 ราย และ ระยะเติบโตของธุรกิจ (S3) 6 ราย ระยะเวลาการเปิดรับสมัคร 23 มีนาคม – 3 เมษายน 2563 2)
โครงการที่มีเป้าหมายดำเนินการในจังหวัดและสาขาเป้าหมาย ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ภูเก็ต กระบี่ มุกดาหาร นครพนม หนองคาย นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ยะลา ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี (แต่ละจังหวัดมีเทคโนโลยีเป้าหมายแตกต่างกัน) จำนวน 30 ราย แบ่งเป็น ระยะก่อตั้งธุรกิจ (S2) 29 ราย และ ระยะเติบโตของธุรกิจ (S3) 1 ราย ระยะเวลาการเปิดรับสมัคร 7 - 24 เมษายน 2563