นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกองทุนเก็งกำไร(Hedge Fund )หลายแห่งส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามนโยบายการลงทุนของรัฐบาล รวมถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ย, สถานการณ์ค่าเงินบาท และการเมืองของไทย เพื่อตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
สาเหตุที่เฮดจ์ฟันด์สนใจมาเก็งกำไรในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีช่องว่างที่จะเข้ามาเก็งกำไรได้ โดยเฉพาะความผันผวนของค่าเงินบาท ส่วนตลาดหุ้น ก็สนใจที่จะลงทุนหุ้นที่มีความเสี่ยง พื้นฐานไม่ดี โดยมักจะเข้าซื้อและขายเร็ว
นายโชติชัย กล่าวว่า แม้จะรู้ว่านโยบายของกองทุนเฮดจ์ฟันด์จะเน้นลงทุนในระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรทั้งในตลาดหุ้นและเงินบาท แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ชี้แจงทิศทางของเศรษฐกิจและนโยบายการลงทุนตามความเป็นจริงให้กับผู้ลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน โดย ตั้งแต่ปี 49 ถึงปัจจุบันมีเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่กว่า 10 รายที่เข้ามาสอบถามเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม แม้กองทุนประเภทนี้ไม่ชอบผลตอบแทนที่ต้องลงทุนระยะยาว ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันข้อดีของเฮดจ์ฟันด์จะรู้จุดอ่อนทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้หน่วยที่รับผิดชอบสามารถปรับปรุงหรือหามาตรการป้องกันให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งแบบยั่งยืน ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณเตือนก็จะเป็นผลดีเพราะเฮดจ์ฟันด์คงไม่กล้าเก็งกำไรมากนัก
ขณะเดียวกันก็มีกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในระยะยาวหลายรายสนใจสอบถามข้อมูลมาเช่นกัน ทั้งกองทุนบริหารเงินขนาดใหญ่จากยุโรปที่มีขนาด 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐแสดงความสนใจที่ชัดเจนจะเข้ามาลงทุนในไทย จากก่อนหน้านี้ที่ไม่กล้าเข้ามาเพราะกังวลสถานการณ์ทางการเมือง แต่หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความสนใจที่จะลงทุนอีกครั้ง
"เจ้าหน้าที่กองทุนได้สอบถามเกี่ยวกับมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของไทย รวมถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่นและอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมว่าอยู่ในระดับใด เพื่อนำข้อมูลไปให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาอีกครั้ง ถ้ากองทุนดังกล่าวสนใจก็เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนราว 1 แสนล้านบาท"นายโชติชัย กล่าว
สำหรับธุรกิจที่กองทุนเหล่านี้สนใจคือการลงทุนในตลาดหุ้น, ตราสารหนี้, ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์
นายโชติชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่กองทุนเหล่านี้ยังมีความเป็นห่วงคือเกรงว่าจะมีการออกกฎหมายกับการกีดกันต่างชาติ เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ส่วนเรื่องของค่าเงินบาทนั้น ต่างชาติก็เป็นห่วงว่าหากแก้ไม่ได้จะมีผลในเชิงลบทางด้านสังคมเกิดขึ้นตามมา
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--