บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปรับจุดกึ่งกลางของช่วงอันดับเครดิต (mid-point score) สำหรับปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน (Operating Environment) ของธนาคารไทยเป็น ‘bbb’ จาก ‘bbb+’ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสจะส่งผลให้มีแรงกดดันอย่างมากต่อภาคการธนาคาร แม้ว่าระดับความรุนแรงและระยะเวลาของการแพร่ระบาดยังคงมีความไม่ชัดเจน แต่ฟิทช์เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสภาวะธุรกิจโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวลง 5.3% ในปี 2563 ทั้งนี้การปรับลดปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมดังกล่าวได้พิจาณาถึงการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจแล้ว
การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ภาคการธนาคารไทยอยู่ในช่วงที่วัฎจักรของธุรกิจค่อนข้างมีความท้าทายสูง ผลการดำเนินงานของภาคการธนาคารได้มีการปรับตัวอ่อนแออย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง และการแข่งขันที่เข้มข้น ซึ่งส่งผลให้รายได้เติบโตในระดับที่ลดลง ปัญหาของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันอย่างมากยิ่งขึ้นต่อแนวโน้มดังกล่าวของภาคการธนาคาร โดยการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาจะยิ่งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ได้ชะลอตัวลงแล้วตั้งแต่ช่วงท้ายของปี 2562 เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ความล่าช้าของงบประมาณประจำปี และภัยแล้ง ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการของภาคการธนาคารปรับตัวแย่ลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระดับที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้
อัตราส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวแย่ลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันภาคการธนาคารกำลังเผชิญกับแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มีสถานะการเงินที่อ่อนแอจะมีความเปราะบางอย่างมากต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ สำหรับในประเทศไทย กลุ่มดังกล่าวจะรวมถึงกลุ่มลูกหนี้ SME ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อรวมของภาคการธนาคาร ระดับของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม SME มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแล้วแม้ก่อนเกิดการระบาดของโคโรน่าไวรัส นอกจากนี้กลุ่มลูกหนี้รายย่อยน่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 16% ของสินเชื่อรวม) หากอัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น
ธปท.ได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปเป็นอัตราที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ มีการผ่อนผันกฎเกณฑ์เพื่อช่วยสนับสนุนให้ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ทุกกลุ่ม และยังช่วยสนับสนุนสภาพคล่องแก่ตลาดการเงิน มาตรการดังกล่าวจะช่วยไม่ให้เกิดการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้เสียในช่วงเวลาสั้น และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูความมั่นใจต่อตลาดการเงินในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวไม่สามารถที่จะหักล้างผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากความปั่นป่วนอย่างมากของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธนาคารในปีนี้และปีหน้า
การปรับตัวแย่ลงของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของภาคธนาคาร พร้อมทั้งการปรับตัวแย่ลงของคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการจะเป็นแรงกดดันต่อโครงสร้างเครดิตและอันดับเครดิตของธนาคาร ซึ่งรวมถึงอัตราส่วนเงินกองทุนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงจากสถานะลูกหนี้ที่ด้อยลง อย่างไรก็ตามโครงสร้างเดรดิตของธนาคารยังมีปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวไปได้บ้างจากความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร
ทั้งนี้ภาคการธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Core Equity Tier 1 Ratio) ที่ 16% ณ สิ้นปี 2562 และมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 145% นอกจากนี้ธนาคารไทยหลายแห่งมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวหรืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการให้การสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือจากบริษัทแม่ที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง