นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ว่า ความโปร่งใสทางการคลังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานโดยใช้นโยบายด้านประชานิยมเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีความยากจน เพราะแม้ว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ดีตราบที่ไม่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อวิกฤติทางการคลังของประเทศ
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลที่ติดตามการใช้จ่ายและฐานะการคลังอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็ควรเป็นข้อมูลที่เป็นสาธารณะ เปิดเผยได้เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล ทำให้เปิดเป็นระบบเตือนภัยทางการคลัง และยังทำให้ต่อไปในอนาคตสามารถมีนโยบายออกมาแก้ไขได้ถูกต้องและทันการ
รมว.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลักการในการสร้างความโปร่งใสทางการคลัง ต้องมีการแบ่งแยกภาระหน้าที่อย่างชัดเจนในแต่ละหน่วยงานในประเทศ อย่าให้ปะปนกัน เพื่อจะแยกสิ่งที่เอกชนทำได้ก็ให้เอกชนทำ จะได้ไม่เป็นภาระของภาครัฐ ต้องมีความโปร่งใสของข้อมูล และ คุณภาพของข้อมูล ซึ่งต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องมีการเผยแพร่สู่สารธารณะ
"เท่าที่ทราบในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการใส่เนื้อหาความโปร่งใสทางการคลังไว้ เนื้อหามากกว่าปี 40 อยู่ประมาณหมวดที่ 8 เรื่องการเงินการคลังและงบประมาณ น่าจะช่วยได้พอสมควร" รมว.คลัง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ทางกระทรวงการคลังยังมีจุดอ่อนในด้านการบริหารการคลังอีกมาก เช่น ในเรื่องกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายที่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้ไม่ได้ตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานแห่งความรอบคอบและครอบคลุม
รมว.คลัง กล่าวว่า อย่างกรณีคณะรัฐมนตรีการพิจารณาจะมองเป็นจุดๆ แบบ Micro ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการอนุมัติในหลักการ และให้กระทรวงการคลังเจ้าของโครงการไปคุยกับสำนักงบประมาณ แต่ไม่เคยรู้ภาพใหญ่ของกระทรวงการคลังว่าเป็นอย่างไร
"ดังนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การตัดสินใจโดยใช้ระดับ Micro เพียงอย่างเดียวนั้น โดยไม่มี Macroมาช่วย จะทำให้การอนุมัติงบประมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้มีการพิจารณาถึงแหล่งที่มาของรายได้ มีแต่รายได้ รายจ่ายไม่พอ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจะปรับขึ้นภาษีได้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้ เนื่องจากกระทบกับประชาชน และไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่จะปรับขึ้นภาษี" รมว.คลัง กล่าว
รมว.คลัง กล่าวต่อว่า อีกทั้งวันนี้หน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ยังต้องการมีความคล่องตัวทางการเงิน เพราะฉะนั้นการที่อยากจะมีความคล่องตัวทางการเงินมากกว่าปกติ โดยการขอตั้งองค์กรมหาชน การขอจัดตั้งกองทุน หรือ การขอสิทธิพิเศษทางภาษี รวมถึงรัฐวิสาหกิจเองด้วยที่ชอบขอตั้งบริษัทลูก หรือขอยกเว้นการปฎิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลังและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ ออกนอกกรอบการควบคุมของกระทรวงการคลัง ดังนั้น โอกาสที่การดูแลให้มีวินัยทางการคลังอย่างยั่งยืนก็จะน้อยลง
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีช่องโหว่ในการดำเนินกิจการของรัฐที่ทำให้เกิดภาระทางการคลัง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทำให้ต้องมีการเข้ามาแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน ควรต้องมีการเข้ามาตรวจทานอย่างเข้ม เพราะว่าเรื่องไหนที่จะทำให้เกิดภาระทางการคลังเกินความจำเป็น จนทำให้เกิดความเสียหายตามมาก็ควรจะต้องดูแล ให้เกิดความโปร่งใส อย่างบางกรณีที่มีการของบประมาณมา แต่ว่างบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ต้องไปใช้เงินคงคลัง ซึ่งเมื่อนำไปใช้แล้วก็ไม่มีการเข้าชดเชย
"เช่น การรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณขึ้นมาเพื่อชดเชยให้กับธกส.ทุกปี แต่ไม่เคยมีการไถ่ถ่อน อย่างปี 50 ตั้งไว้ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ปี 51 หมื่นกว่าล้านบาท และปี 52 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาระทางการคลังทั้งสิ้น" รมว.คลังกล่าว
อีกทั้งการที่ตั้งงบประมาณที่ต่ำเกินจริง เนื่องจากว่าไม่มีอำนาจและให้การใช้จ่าย ทำให้มีการดึงเงินคงคลังเข้ามาใช้ เช่น กรณีเงินวิทยะฐานะของครู หรือ เงินค่ารักษาพยาบาลที่มีการตั้งงบประมาณต่ำกว่าความเป็นจริง ปรากฎว่า พอถึงตอนนี้แล้ว หมดเสียก่อน ทำให้ต้องหาเงินมาชดเชยส่วนที่ขาด ซึ่งต้องใช้เงินคงคลัง
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--