น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวไม่ต่ำกว่า -8% และมีโอกาสหดตัวถึงตัวเลขสองหลัก บนสมมติฐานค่าเงิน 30.50 บาท/ดอลลาร์ (ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 เท่ากับ 32.895 บาท/ดอลลาร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.36-32.97 บาท/ดอลลาร์
"สรท.เห็นด้วยกับที่ กนง.คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวติดลบ 8% และต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะ" น.ส.กัณญภัค กล่าว
โดยการส่งออกมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น 1.1 Supply chain disruption ทั่วโลกส่งผลต่อภาคการส่งออก ทั้งกลุ่ม non-essential และ essential goods จากการแพร่ะบาดของไวรัสโควิด-19 หลายประเทศเริ่มมาตรการ lockdown และควบคุมการเดินทาง กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศรายได้ของประชาชนที่ลดลง ลดการจ้างงาน ปิดกิจการชั่วคราวและถาวร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเทศ รวมถึงไทย
1.2 Logistic disruption ทั่วโลกและประเทศไทย ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางถนน อาทิ ทางเรือมีระยะเวลาในการดำเนินการและตรวจตราเจ้าหน้าที่ที่ท่าเรือใช้ระยะเวลามากขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ปฏิบัติงานลดลงอาจทำให้มีตู้สินค้าตกค้างภายในท่าเรือและเกิดความหนาแน่นเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลคุณภาพสินค้าบางชนิด อาทิ สินค้ากลุ่มผักและผลไม้ ประกอบการสายเรือทำ blank sailing (omit) มากขึ้น ไม่เข้าเทียบท่าที่มีความแออัดและต้องรอคิวนานเกินไป ทำให้กระทบต่อผู้นำเข้าส่งออกในการบริหารจัดการและเป็นต้นทุน ทางอากาศนั้นหลายสายการบินหยุดให้บริการ ทำให้ต้นทุนค่าระวางของ freighter ค่อนข้างสูงไม่คุ้มกับใช้บริการผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ทางบกรัฐบาลมีคำสั่งปิดด่านถาวรและจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนทั้ง สปป.ลาว-เมียนมา-กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นเวลา 14 วัน กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสั่งการให้คงเหลือการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้เพียงประเทศละ 1 จุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อสินค้า และกระทบต่อมูลค่าจากการค้าชายแดนจำนวน 60,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,000 ล้านบาทต่อวัน
2.ผลกระทบภัยแล้งที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรและผู้ประกอบการอีกรอบ เห็นได้จากสถานการณ์ที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนเพื่อการใช้ที่เหลือปริมาณ 16% เท่านั้น ทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อยไม่เพียงพอต่อการส่งออกถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ปาล์ม ลำไย เป็นต้น
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะต่อรภาครัฐ ได้แก่ 1.สรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคการส่งออกไทย เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอแนะที่จัดทำขึ้นได้พิจารณาทั้งในส่วนของระดับความสำคัญ (สูง/กลาง/ต่ำ) ระยะเวลาการใช้มาตรการที่รองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมด้านการเงิน ด้านแรงงาน ด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ด้านการตลาด เป็นต้น
นอกจากนี้ สรท.ได้ทำการเปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง หากแต่หลายมาตรการที่ออกมานั้นยังเพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ผลิตยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ในช่วงระยะสั้นและอาจกระทบต่อเนื่องเป็นระยะยาวจนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ
2.ขอให้ภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องของวิธีการดำเนินงานของภาคการส่งออก นำเข้า โรงงานการผลิตและระบบโลจิกสติกส์ หากจำเป็นมีการประกาศเคอร์ฟิวยกระดับเป็น 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ เนื่องจากโรงงานและระบบโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกนำเข้าไม่สามารถหยุดการดำเนินกิจกรรมการทางการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้เครื่องจักรตัวสุดท้ายของระบบเศรษฐกิจพัง และ 3.เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น