รายงานประจำปีขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ระบุว่า ทวีปเอเชียสามารถลดอัตราความยากจนถึงขีดสุดลงได้อย่างน่าพอใจ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆในเอเชียก็ยังเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันที่มากขึ้นในหลายประเทศ
"เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถลดภาวะความยากจนได้อย่างน่าประทับใจ" รายงานเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษความยาว 36 หน้า ระบุถึงภาวะความยากจนคือการใช้ชีวิตด้วยรายได้ที่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ต่อวัน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เอเชียตะวันออกมีจำนวนประชากรที่มีความยากจนถึงขีดสุดตกลงมากที่สุดจากระดับ 33% ในปี 2533 มาแตะระดับ 9.9% ในปี 2547 ขณะที่ประชากรยากจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงจากระดับ 20.8% เมื่อ 17 ปีที่แล้วสู่ระดับ 6.8% ในปี 2547
เอเชียใต้ ซึ่งรวมถึงอินเดีย ตัวเลขอัตราความยากจนลดลงจากระดับ 41.1% ในปี 2533 มาอยู่ที่ 29.5% ในปี 2547 อัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของอินดียช่วยผลักดันให้เอเชียใต้เอเชียใต้อยู่ในเส้นทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะลดอัตราความยากจนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2558
นอกจากนี้ เอเชียยังขาดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ โดยผู้หญิงจำนวนมากไม่มีงานทำ และได้รับบริการสาธารณสุขที่ย่ำแย่
ในภูมิภาคเอเชียใต้ ผู้หญิงที่ได้รับการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 18% ในระหว่างปี 2533-2548 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของผู้หญิงที่ทำงานนอกภาคการเกษตรในโลก
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราการสูญเสียป่าไม้ ซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วที่สุดในพื้นที่ชีววิทยา รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชเนีย ละตินอเมริกา และบริเวณทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา ซึ่งมีส่วนทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นด้วย
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ฤดี ภวสิริพร/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--