นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
1.ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย.63 และเริ่มกู้เงินได้วนเดือน พ.ค.63 แบ่งเป็น
- จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ได้แก่ เยียวยาประชาชน 6 เดือน, เยียวยาเกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข
- แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่
2.ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกซอฟท์โลนเพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ คือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท
- เป็นสินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท
- ธนาคารพาณิชย์ และ SFls พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
3.ออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
นายอุตตม ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงินว่า กระทรวงการคลังนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 57% ของจีดีพี ซึ่งไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% แต่หากในอนาคตจำเป็นต้องขยายกรอบก็จะนำเสนอคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของการออก พ.ร.ก.กู้เงิน คือ ประการแรก คือ ให้อำนาจกระทรวงการคล้งกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แหล่งที่มาจะเป็นเงินสกุลบาทเป็นหลัก กำหนดเวลากู้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.64 โดยจะเป็นลักษณะการทยอยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งบประมาณตามที่กำหนดไว้
วัตถุประสงค์ สำหรับวงเงิน 6 แสนล้านบาท จะใช้ด้านการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง มาตรการเยียวยาประชาชนในกลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 9 ล้านคน ที่เดิมกำหนดไว้จ่ายเงินช่วยเหลือ 5 พันบาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะมีการต่ออายุเป็น 6 เดือน ถึงเดือน ก.ย.63 จากวงเงินรวมรายละ 1.5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 3 หมื่นบาท รวมถึงจะใช้สำหรับมาตรการดูแลเกษตรกรที่จะประกาศในรายละเอียดถึงเกณฑ์และวิธีการตอ่ไป และด้านสาธารณสุขจะมีการกำหนดหรือจัดงบประมาณไว้เพิ่มเติมหากมีความจำเป็นต้องใช้
ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท จะใช้ตามแผนงานดูแลเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น การดูแลสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกกลุ่มของประชาชนในประเทศ หลังจากดูแลผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง และเกษตรกรไปแล้ว ก็จะมาดูแลในมิติของพื้นที่เพื่อสร้างงานสมร้างอาชีพ โดยเฉพาะประชาชนที่กลับไปยังท้องถิ่น นายอุตตม กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องยกร่าง พ.ร.ก.และทูลเกล้าฯ คาดว่า พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย. จากนั้นกระทรวงการคลังจะเริ่มจัดหาแหล่งเงินกู้ตามวงเงินที่เหมาะสมเบื้องต้นภายในต้นเดือน พ.ค.63 การกู้เงินจะเริ่มขึ้นได้และเงินจะเริ่มเข้ามา
อีกด้านหนึ่งเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกันคือมีคณะกลั่นกรองโครงการ ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ขออนุมัติใช้วงเงิน จากนั้นจะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่โครงการนั้นจะได้รับการอนุมัติ พร้อมกันนั้นจะมีระบบการกำกับติดตามรายงานผลการใช้จ่ายเงินเป็นระยะถึงความคืบหน้า
พร้อมกันนั้น วันนี้ ครม.ยังอนุมัติให้สำนักงงบประมาณ จัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณประจำปี 63 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อใช้งบกลางของปี 63 ต่อสู้กับโควิดไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท และยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เงินงบประมาณในการดูแลกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงขอจัดทำเป็น พ.ร.บ.โอนงบจากกระทรวงเข้ามามรวมกันไว้ที่งบกลางเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโควิด ซึ่งจะมีหลักการปฏิบัติ ที่สำนักงบประมาณกำหนดขึ้นและขอความร่วมมือจากทุกกระทรวงกันงบที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายในเวลานี้เพื่อนำมาต่อสู้กับปัญหาโควิด รวมทั้งให้จัดทำงบรายจ่ายของปี 64 ให้สอดคล้องกับการรับมือสถานการณ์โควิดด้วย