"ประสาร"แนะปรับวิธีจัดการทุนสำรองฯ-ลดดบ.-ขยายถือดอลล์ช่วยลดแรงกดดันบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 12, 2007 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)เห็นด้วยกับแนวคิดปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ ขยายเวลาถือครองดอลลาร์ และ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.50% ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท
สำหรับสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนที่เป็นการค้าตามปกติและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จนส่งผลให้ตลาดเงินในประเทศขาดสมดุลเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจจริง ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทคงเป็นเรื่องยากและอาจสร้างความเสียหายมาก
"การที่แบงก์ชาติเอาบาทออกมาแล้วซื้อดอลลาร์เข้าไป ถ้าเป็นเรื่องปรับนิดปรับหน่อยเพื่อชะลอไม่ให้เปลี่ยนแปลงฮวบฮาบก็พอทำได้ แต่ถ้าหักหาญจะไปเปลี่ยนทิศทางตรงนี้อันตรายเหมือนในอดีตที่เราเคยทำมาแล้ว" นายประสาร กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้
นายประสาร กล่าวถึงแนวคิดการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศว่า สามารถทำได้ 3 ทาง คือ การนำไปชำระคืนหนี้ต่างประเทศ, การนำเข้าสินค้า และการนำเงินออกไปลงทุน ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดในอดีต เนื่องจากเป็นการขยายช่องทางที่จะระบายออกไปในระดับที่สามารถควบคุมได้ และเหมาะสมกับสภาพคล่องของประเทศ
"ในอดีตเราคิดว่าขาดก็จะไปปิดกั้น ซึ่งอาจจะต้องปรับความคิดตรงนั้น" นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า การไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้ในต่างประเทศอาจจะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญพอสมควร แต่หนทางที่ง่ายคือการขยายเวลาให้คนไทยถือครองเงินตราต่างประเทศได้นานขึ้นหรือนำไปฝากธนาคารพาณิชย์ในสกุลดอลลาร์ได้
ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดแรงจูงใจในการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามา ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาฟองสบู่ เป็นต้น เพราะหากลดลงแล้วจะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่
"ผมคิดว่าพอจะมีเหตุผลที่อธิบายได้เพราะเศรษฐกิจภายในทั้งอุปโภคบริโภคค่อนข้างซบเซา และเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ถ้าจะลดอีกสัก 1 สลึงก็อธิบายได้ แต่ถ้าจะไม่ลดก็พอมีเหตุผลที่ไม่ตรงกับทิศทางของต่างประเทศ" นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลหากมีการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยคลายแรงกดดันลงได้ในระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลไม่ควรไปกังวลเรื่องเวลาในการบริหารงานที่เหลือไม่มาก แต่ต้องเร่งทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจจริงให้กลับมาฟื้นตัวเพื่อรักษาสมดุล ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
"กระแสตรวจสอบเยอะๆ ก็ทำให้ข้าราชการเกร็งเหมือนกัน เรื่องนี้มันต้องมีความพอดี" นายประสาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของค่าเงินบาทหากทางการไม่เข้าแทรกแซงก็ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะการค้าต่างประเทศยังเกินดุล ขณะที่เงินทุนยังเคลื่อนย้ายเข้ามาอีก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าถึง 33 บาทต้น ๆ /ดอลลาร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ