BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.65-33.15 เคลื่อนไหวผันผวน กังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยจากโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2020 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.65 - 33.15 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.99 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.61 ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 9.2 พันล้านบาท และ 1.0 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์ฟื้นตัวเทียบทุกสกุลเงินหลัก ด้วยแรงหนุนในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย แม้ข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ออกมาย่ำแย่เกินคาด ขณะที่ตลาดวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ 6.648 ล้านรายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค.63 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐฯร่วงลง 701,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค.63 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้สะท้อนความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่จากโควิด-19

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับทิศทางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณในเบื้องต้นว่าอาจจะกำลังชะลอตัวลง และในบางประเทศอาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี คาดว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่จะทยอยประกาศออกมาในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า จะยังคงบ่งชี้ถึงผลกระทบรุนแรงจากไวรัส นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC และชาติพันธมิตรในวันที่ 9 เม.ย.63 ซึ่งคาดว่าอาจมีข้อตกลงในการปรับลดปริมาณการผลิตราว 10-15 ล้านบาร์เรล/วัน

"ในภาพรวม เราประเมินว่านักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่กลับเข้าซื้อสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ในระยะนี้ และตลาดการเงินโลกจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนตามกระแสข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประสิทธิผลของมาตรการปิดเมือง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลัง" บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับปัจจัยในประเทศ จุดสนใจจะอยู่ที่รายละเอียดของการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจชุดที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าราว 10% ของจีดีพี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามการจัดสรรงบประมาณและโครงสร้างการกู้เงินของภาครัฐ รวมถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขออนุมัติการออกกลไกดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้ ธปท.สามารถซื้อตราสารหนี้ที่ครบกำหนด Roll over ได้ นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาแนวโน้มการยกระดับเคอร์ฟิวหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยขยายวงมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ