น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำกนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางรายลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนกับเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศ และมีการจัดการโดยไม่ถูกวิธี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน ทำให้วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และสอดคล้องกับร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. .... โดยได้กำหนดห้ามโรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในโรงงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ สรุปได้ดังนี้
1) กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 84 และประเภท 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
2) กำหนดนิยาม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่นๆ สวิตซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีบีซี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
3) กำหนดให้มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีสงสัยว่าสินค้าใดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาโดยนำความเห็นของกรมโรงานอุตสาหกรรมและกรมศุลกากรมาประกอบด้วย
ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียในประเทศ โดยเฉพาะสารพิษตกค้างประเภทโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม