นักวิชาการ เห็นด้วยรัฐมาถูกทางกู้ครั้งประวัติศาสตร์อัด 2 ล้านลบ.รับมือโควิด แนะต้องโปร่งใส-มีสิทธิภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 8, 2020 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง เปิดเผยกับ "อินโฟเคสท์" ว่า เห็นด้วยและเชื่อว่ารัฐบาลมาถูกทางที่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยแนวทางการออก 3 พ.ร.ก.เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเมื่อรวมกับมาตรการช่วยเหลือของธนาคารออมสินรวมเป็นวงเงินกว่า 2.06 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12-13% เมื่อเทียบกับมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) เป็นมาตรการคล้ายกับที่รัฐบาลอีกหลายประเทศที่อัดงบประมาณจำนวนมากมาใช้ประคับประคองเศรษฐกิจระยะสั้น

ปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวเข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้ช่วง 3-6 เดือน โดยเข้ามาแก้ไขปัญหา 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย ประเด็นแรก การเตรียมความพร้อมด้านทางการแพทย์ในไทยในมิติต่างๆ เช่น สถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากร เป็นต้น ประเด็นที่สอง คือ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจตั้งแต่รายใหญ่ไปถึงรายเล็กหลังจากหลายรายถูกผลกระทบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ

ประเด็นที่สาม คือ เข้ามาอุ้มภาคตลาดการเงินและตลาดทุนมองว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมาตรการให้ธนาคารเห่งประเทศไทย (ธปท.)ใช้วงเงิน 4 แสนล้านบาทมาเป็นผู้เล่นในตลาดตราสารหนี้ เพราะถ้าหากตราสารหนี้เอกชนจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาทไม่สามารถ Rollover ได้เพราะนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ตื่นตระหนกไปเร่งไถ่ถอน อาจนำไปสู่วิกฤตทางการเงินของไทยครั้งใหญ่ได้เช่นกัน

และประเด็นสุดท้าย คือ การนำงบประมาณไปช่วยเหลือภาคประชาชนทั่วไปที่ขณะนี้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ประชาชนกลับมามีความรู้สึกเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจของไทยได้ให้อีกครั้ง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ลุกลามไปสู่ความฝืดเคืองในระบบเศรษฐกิจ

"แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการชุดใหญ่ออกมาดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะเพียงพอกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หรือไม่ เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด บอกได้แต่เพียงว่ารัฐบาลมาถูกทาง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องควบคุมสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ในไทยให้ได้ ไม่เช่นนั้นที่ทำมาทุกอย่างก็พังหมด แต่ถ้าสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั้งในไทยและทั่วโลกเริ่มชะลอและลดลงตามลำดับในครึ่งปีหลัง โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่รอบนี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะเห็นการเติบโตอีกครั้งคงต้องรอภาวะเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวรอบใหม่"นายสมชาย กล่าว

สำหรับแนวทางการใช้งบประมาณจำนวนมากอยากเห็นรัฐบาลเบิกจ่ายเงินมุ่งประโยชน์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีความโปร่งใสไม่เกิดการรั่วไหล นอกจากนี้ แม้ว่าหลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพความเสี่ยงด้านการเงินและคลังของประเทศจากแผนการกู้เงินของรัฐบาล แต่โดยส่วนตัวมองว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้กรอบวินัยการเงินและคลังสามารถยืดหยุ่นได้ ปัจจุบันแนวทางการกู้เงินของรัฐบาลในเวลานี้ก็พื่อให้ประเทศอยู่รอด แม้ว่าก่อนหน้านี้ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ระดับกว่า 40% ภายใต้สมมติฐานการตั้งขาดดุลงบประมาณ 2.6% ต่อมูลค่า GDP ประเทศที่ตั้งสมมติฐานเติบโต 3% แต่ถ้าหากกู้เงินรอบนี้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นมาเป็น 3% ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 60% อยู่ในกรอบเพดานวินัยการคลัง เมื่อรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพประคับประคองรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป นับว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เพราะในภาวะวิกฤตความอยู่รอดของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ

สำหรับผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 เม.ย.) มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

1.ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย.63 และเริ่มกู้เงินได้ในเดือน พ.ค.63 แบ่งเป็น

-จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ได้แก่ เยียวยาประชาชน 6 เดือน, เยียวยาเกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข

  • แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่

2.ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกซอฟท์โลนเพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ คือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท

  • เป็นสินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท
  • ธนาคารพาณิชย์ และ SFls พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

3.ออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

https://youtu.be/2NXpYvijGHE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ