กลุ่มเหล็กเรียกร้องรัฐบาลออกนโยบายหนุนใช้เหล็กในประเทศกับ 44 โครงการก่อสร้างรัฐ เสริมการจ้างงงาน-ดัน GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 8, 2020 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางราง กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมท่าอากาศยาน การท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย และ สนข. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมทางหลวงชนบท และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กโลกและของไทย ในปี 2562 ประเทศไทยมีการใช้สินค้าเหล็ก 18.47 ล้านตัน และส่วนใหญ่ประมาณ 58% ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่พบว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศกว่า 12 ล้านตัน คิดเป็นกว่า 66% ของการใช้ในประเทศ และคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมากเพียง 32% เท่านั้น ขณะที่หลายประเทศใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 50% ทั้งสิ้น เช่น เวียดนามใช้กำลังการผลิตที่ 69% ออสเตรเลีย 58% เกาหลีใต้ 53% และไต้หวัน 75% ดังนั้นการสนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศ จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น และพัฒนาอุตสาหกรรรมเหล็กซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไป

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการศึกษาผลกระทบจากการใช้สินค้าในประเทศโดยการใช้เครื่องมือตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต หรือ Input-Output Table (I-O Table) ซึ่งเป็นตารางที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและ การใช้ผลผลิต ทั้งที่ใช้ไปในขั้นสุดท้าย และที่ใช้ไปเพื่อการอุปโภคขั้นกลาง สำหรับข้อมูลโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม 44 โครงการ โดยได้มีการประเมินจากผู้ผลิตสินค้าเหล็กในประเทศว่าสามารถใช้สินค้าเหล็กในประเทศได้เป็นมูลค่าถึงประมาณ 110,000 ล้านบาท

จากมูลค่าดังกล่าว เมื่อนำไปวิเคราะห์โดย I-O table พบว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อมกว่า 139,000 คน และช่วยให้ GDP ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% แต่ทั้งนี้ การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ในเบื้องต้น อาจจะต้องมีการปรับข้อมูลในการวิเคราะห์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สินค้าในประเทศช่วยส่งเสริมการจ้างงาน และ GDP ของประเทศอย่างแน่นอน

ขณะที่นายวิน วิริยประไพกิจ ผู้แทนกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ทางภาครัฐได้มีการส่งเสริมการลงทุน แต่ยังขาดนโยบายอื่นๆ เช่น ด้านต้นทุน ด้านการตลาด ด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยี เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานของภาครัฐที่ดูแลกำกับโดยตรง อีกทั้งได้กล่าวถึงปัญหาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก โดยปัญหาเกิดขึ้นจากการที่ประเทศจีนมีการผลิตสินค้าที่มากเกินความจำเป็นของโลก และมีการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมทั้งเรื่องการอุดหนุน และทุ่มตลาด

ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่ไม่สามารถไปยังประเทศที่กำหนดมาตรการที่แข็งแรงได้ก็มีโอกาสเข้ามายังประเทศไทยได้ แสดงให้เห็นจากตัวเลขของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศลดลง 4% ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 เหลือเพียง 32% เท่านั้น

"ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2558 ได้รายงานปัญหาและนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยรองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีเสมอมา และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นกัน" นายวิน กล่าว

นายวิน กล่าวว่า ได้นำเสนอข้อมูลถึงความสามารถในการผลิตสินค้าเหล็กที่สามารถผลิตและจำหน่ายได้ โดยสินค้าเหล็กส่วนใหญ่ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐผู้ประกอบการสามารถผลิตได้ทั้งสิ้น ยกเว้นสินค้าบางรายการ เช่น รางรถไฟ อีกทั้งได้นำเสนอแนวทางการกำหนด

ด้านนายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐได้กำหนดนโยบาย Buy American สนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศตนเอง กำหนดให้ใช้ Local content ในโครงการภาครัฐสำหรับสินค้าเหล็กที่ 95% เช่นเดียวกับอินเดียก็มีนโยบาย Make in India กำหนดให้ใช้ Local content โครงการภาครัฐในภาพรวมที่ 50% โดยต้องมี Certificate รับรองด้วย และสำหรับการใช้สินค้าเหล็กต้องมีมูลค่าเพิ่มในประเทศ 20%

ดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ดังนี้ 1.ขอให้ยึดถือปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 เรื่องหลักเกณฑ์การใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศอย่างเคร่งครัด และขอให้พิจารณากำหนด Local content การใช้สินค้าเหล็กในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐที่ 90% 2.ขอให้นำแนวปฏิบัติการให้แต้มต่อด้านราคากับวัสดุที่ผลิตในประเทศ และเป็นกิจการของคนไทยตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 มี.ค.53 กลับมาพิจารณาบังคับใช้อีกครั้ง โดยให้ครอบคลุมถึงงานก่อสร้างด้วย

"การกำหนด Local content ของประเทศไทย สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อความตกลง WTO เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง Government Procurement Agreement (GPA) ประเทศไทยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น" นายนาวา กล่าว

ขณะที่นายชาตรี บุญญารัตนากุล ตัวแทนจากสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย กล่าวว่า มีความกังวลกรณีการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ว่า การเจรจาสามารถกำหนดข้อยกเว้นสำหรับเรื่อง GPA ได้หรือไม่ จากตัวอย่างประเทศเวียดนามที่มีการลงนามเข้าร่วมแล้วและมีการระบุยกเว้นไม่ครอบคลุมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกระทรวงคมนาคม ดังนั้นสำหรับประเทศไทยหากเข้าร่วม CPTPP ก็ควรกำหนดการยกเว้นเช่นเดียวกัน อีกทั้งระยะเวลาการเปิดเสรีก็ใช้เวลานานถึง 25 ปี ดังนั้นในระหว่างนี้จึงควรมีการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ

ด้านผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง ชี้แจงว่า กำลังศึกษาและทบทวนการจัดทำกฎระเบียบ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และไม่ให้ขัดต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ สนข.จะจัดทำสรุปข้อมูลจากการสัมมนาครั้งนี้เสนอผู้บริหารกระทรวงคมนาคมพิจารณา รวมถึงประสานอย่างเป็นทางการไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับจัดทำมติ ครม.ใหม่ให้มีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพในการนำไปปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เกิดจากการที่กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กกว่า 470 บริษัทได้เข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อขอให้สนับสนุนนโยบาย "Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน" และสนับสนุนการผลักดันให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ