นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ครั้งที่ 3/2563 (ครั้งที่ 5) ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) และติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบพื้นที่ เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามแผนงาน และให้ รฟท. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสำรวจพื้นที่ และรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ หาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อเร่งรัดการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ส่งมอบพื้นที่เวนคืนและบุกรุกภายในเดือนมกราคม 2564
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะประชุมทุกเดือน โดยให้รายงานความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคให้คณะกรรมการรับทราบ ซึ่งพื้นที่เวนคืนจำนวน 931 แปลง จะมีการสำรวจและกำหนดค่าทดแทนให้เสร็จในเดือนก.ย. เพื่อเริ่มจ่ายค่าทดแทนในเดือนต.ค.63 ส่วนผู้บุกรุก มีจำนวน 1,352 หลัง ได้ให้ รฟท.เร่งเจรจาเพื่อให้รื้อย้ายออกจากพื้นที่โครงการโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ให้แจ้งผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรื้อย้ายสายสื่อสารที่อยู่ในเขตพื้นที่ก่อสร้างฯ
โดยที่ประชุมรับทราบหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยสำหรับผู้บุกรุกในพื้นที่โครงการฯ โดย มอบให้ รฟท. พิจารณาการขอตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายดังกล่าว และศึกษาแนวทางการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นชอบหลักการตามข้อเสนอการขอขยายเขตทางในพื้นที่เวนคืนเพิ่มเติมจาก 25 เมตร เป็น 40 เมตร ซึ่งอยู่ภายใต้เอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ตามที่บริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ เสนอ
นอกจากนี้ รฟท. และบริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการขยายเขตทางตามความเป็นจำเป็น 5 จุด ได้แก่ สถานีลาดกระบัง, ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง, ช่วงอุโมงค์เขาชีจรรย์, ช่วงทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการทำงานและการก่อสร้าง และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนขณะก่อสร้าง และเมื่อเปิดเดินรถให้บริการ รวมทั้งเพื่อเป็นเส้นทางสำหรับการอพยพและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และใช้เป็นเส้นทางสาธารณะแก่ประชาชนใช้โดยสารทางถนนโดยรอบตลอดเส้นทางโครงการฯ
อย่างไรก็ตาม หากมีพื้นที่ส่วนใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีกครั้ง