ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 50.3 จากเดือน ก.พ. 63 ที่อยู่ในระดับ 64.8 โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 21 ปี 6 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มี.ค. อยู่ที่ 41.6 ลดลงจากเดือน ก.พ.63 ที่อยู่ในระดับ 52.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวจากการปิดกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 49.3 จาก 61.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 จาก 80.4
ปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมโควิด-19 ประกอบกับการสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดการปิดกิจการ ยกเลิกการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 63 เป็น -5.3% จากเดิมคาดจะขยายตัว 2.8% และหากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมได้รุนแรงเหมือนกรณีอิตาลีเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงไปอีก แต่ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 3% ในปี 64
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ, การส่งออกของไทยเดือน ก.พ.ลดลง 8.24% นำเข้าลดลง 4.30% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.มีมติ 4:2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามเดิม หลังจากเพิ่งปรับลดลง 0.25% เมื่อการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มชะลอตัวแรงจากปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ แต่ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ซึ่งตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ, รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง