COVID-19รมว.คลังชี้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านลบ.เน้นระดมเงินในประเทศเป็นหลัก เปิดทางประชาชนมีส่วนให้กู้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2020 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะเน้นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าจะมีองค์กรระหว่างประเทศเสนอให้เงินกู้ ทั้งธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) โดยรัฐบาลจะพิจารณาการกู้เงินในแต่ละช่วงเวลาให้มีความเหมาะสมและมีต้นทนถูกที่สุด โดยอาจจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนให้รัฐบาลกู้เงินด้วย ซึ่งจะมีการศึกษาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

"ส่วนใหญ่จะกู้ในประเทศ เช่น สถาบันการเงินที่ให้รัฐบาลกู้ จะเป็นแหล่งใหญ่ เรียกว่ามาจากตลาดเงินของประเทศ หรืออาจกู้จากประชาชนก็ได้ (ผ่านการจำหน่ายพันธบัตร) เรากำลังพิจารณาอยู่ จะให้ผลตอบแทนเท่าไร เรามีแหล่งกู้เงินทั้งจากสถาบันการเงิน จากประชาชน เป็นนทางเลือก" รมว.คลังกล่าว

โดยเมื่อได้ทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยคาดว่าขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. และพร้อมที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการกู้เงินได้ในเดือนพ.ค.63

รมว.คลัง ย้ำว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว อาจไม่มีความจำเป็นต้องกู้ครบจำนวนทั้ง 1 ล้านล้านบาท โดยจะพิจารณาจากสถานการณ์เป็นหลัก ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกู้ให้ครบทั้งก้อน

"หากสถานการณ์เรียบร้อย ก็หยุดกู้ ดังนั้นอาจไม่ถึงหนึ่งล้านล้านบาทก็ได้ ไม่ได้กู้ทั้งก้อน" รมว.คลังระบุ

รมว.คลัง ย้ำว่า รัฐบาลพร้อมจะช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงกลุ่มเกษตรกร ที่ขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มเกษตรกร อยู่นอกเหนือจากกลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทจากรัฐบาล แต่รัฐบาลก็พร้อมจะดูแล เพราะเล็งเห็นแล้วว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดครั้งนี้เช่นกัน

"อีกกลุ่มใหญ่คือเกษตรกร ก็จะดูแลด้วย พยายามให้ครบทุกกลุ่ม ในกลุ่มเกษตรกรนี้ รัฐบาลกำลังหาแนวทางที่เหมาะสม เพราะเมื่อผลิตออกมาแล้ว ยอดขายโดนกระทบ คำสั่งซื้อน้อยลง หรือเมื่อมีญาติพี่น้องกลับไปอยู่ถิ่นฐาน ก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เราจะช่วยดูแลให้ในเรื่องค่าปัจจัยการผลิต เพื่อให้พร้อมกับฤดูผลิตใหม่ที่จะมาถึง"

"วันนี้เป็นวิกฤติใหญ่สุด เรื่องสุขภาพความเป็นอยู่ต้องมาก่อน ขอให้ความร่วมมือรัฐบาลที่มีมาตรการดูแลสาธารณสุข หยุดยั้งการแพร่กระจาย และช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย เราตระหนักว่า ครั้งนี้ส่งผลกับเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะอาชีพใด ทุกคนโดนกันหมด รัฐจะพยายามดูแลอย่างเต็มที่...มั่นใจว่าคนละไม้คนละมือจะผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้" นายอุตตม กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์วันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ