ศูนย์วิจัยของสถาบันการเงินต่างมองว่ามีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25-0.50% หรือลดลงอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่คลี่คลายและลากยาวจนถึงสิ้นปีก็มีโอกาสที่จะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยระดับ 0% จากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75%
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 2 ครั้ง ในช่วงไตรมาส 2/63 และในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะปรับลดลงครั้งละ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยในปีนี้จะลดลงอยู่ที่ 0.25% จากระดับ 0.75% ในปัจจุบัน จากเศรษฐกิจไทยที่ยังเผชิญกับปัจจัยกดดันของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อทุกภาคส่วน และเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาวทุกภาคส่วนที่ภาครัฐได้ออกมาในขณะนี้จะสามารถช่วยประคองเศรษฐกิจไทยได้มากหรือน้อยอย่างไร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทาง กนง.จะต้องติดตามประสิทธิผลเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจการปรับอัตราดอกเบี้ยด้วย
สำหรับแนวโน้มของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0% นั้น มองว่าอาจเกิดขึ้นได้หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบที่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่สามารถคลี่คลายได้และลากยาวไปถึงปลายปี ซึ่งจะทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จะเป็นปัจจัยที่มีส่งผลต่อโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0% แต่มองว่าอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มาก เพราะ กนง.จะต้องเหลือช่องว่างของเครื่องมือทางนโยบายการเงินไว้รองรับสถานการณ์ในอนาคตด้วย
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเหลือโอกาสใช้เครื่องมือการลดดอกเบี้ยน้อยลงทุกที หลังจากจากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดมาที่ 0.75% และนโยบายการคลังที่รัฐบาลได้ออกมาในระยะที่ 3 ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เพิ่มขึ้นได้ และยังต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผลของการพยุงเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องติดตามว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงช่วงใด แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยจะยังอยู่ในระดับทรงตัว แต่ในต่างประเทศยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากอยู่
สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมช่วงไตรมาส 2/63 เหลือ 0.50% และอาจจะปรับลดลงได้อีกในไตรมาส 3/63 ลงมาอยู่ที่ 0.25% ซึ่งจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย แต่ยังมองความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสลดลงเหลือ 0% หรือติดลบได้ หากมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ และการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังมีต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่กนง.จะต้องพิจารณาถึงโอกาสในการปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงด้วย
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวัรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อไปถึงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอย่างมากนั้น ก็มีโอกาสที่กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำสุดเหลือ 0% ได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะจะทำให้ไม่เหลือช่องว่างในการใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันถือว่าช่องว่างดังกล่าวเหลือน้อยมากอยู่แล้ว ส่วนโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในปีนี้มองว่าน่าจะอยู่ที่ 0.25% โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 2/63 กนง.มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.50% จากปัจจุบันที่ 0.75% หลังจากนั้นคาดว่า กนง.จะรอดูผลของมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ที่ภาครัฐออกมา รวมถึงมาตรการเยียวยาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาช่วยประคองเศรษฐกิจว่าจะเห็นผลออกมาเป็นอย่างไร หากไม่สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากก็มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกช่วงครึ่งปีหลังนี้