นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกและของไทย จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในระดับที่ใกล้เคียงกับ The Great Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ. 1930 (พ.ศ.2472-2475) การดิ่งลงอย่างรุนแรงของตลาดการเงินโลก และตลาดหุ้นวอลสตรีทในวันที่ 24 ตุลาคม 2472 เป็นเพียงอาการและสัญญาณแรกๆ ของภาวะวิกฤติตกต่ำทั่วโลกไม่ใช่สาเหตุสำคัญ ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน
ตลาดการเงินโลกได้กระเตื้องขึ้นมาด้วยการอัดฉีดมาตรการทางการเงินและการคลังของหลายประเทศ แต่การกระเตื้องขึ้นบ้างนี้ เป็นเพียงภาวะชั่วคราวไม่น่าจะเกิน 4-6 เดือน เนื่องจากครั้งนี้ปัญหาทางเศรษฐกิจใหญ่กว่าวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551-2552 ที่เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หรือ The Great Recession
ระบบอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินโลกขณะนี้ที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลัก ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง และมีความเสี่ยงที่ใช้อยู่ขณะนี้อาจต้องล่มสลายไป และต้องมีการพัฒนาระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผลของพลวัตดังกล่าวจะมีต่อระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจ ระบบทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นายอนุสรณ์ ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
ข้อที่หนึ่ง ต้องปฏิรูประบบการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ เนื่องจากเงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยนจะผันผวนอย่างมากและด้อยค่าลง รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลเหล่านี้จะลดลง ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สะสมเอาไว้จะด้อยค่าลง ธนาคารแห่งประเทศไทยควรนำเอาการศึกษาที่ทำไว้แล้วเรื่อง "การจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง" มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และควรศึกษาเพิ่มเติมถึงการใช้ Digital Currency ในทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนและทำ Swap Agreement กับประเทศในเอเชียเพิ่มเติม
ข้อที่สอง ธนาคารกลางต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน (Financial stability) เป็นหน้าที่หลัก แต่ต้องไม่ละเลยต่อการดูแลเศรษฐกิจภาคประชาชน และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจด้วย การที่ธนาคารกลางบางประเทศแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินด้วยการซื้อตราสารหนี้เอกชน และใช้มาตรการ QE เป็นหลัก ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงได้ประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนโดยทั่วไปและคนที่แบกภาระมากที่สุด คือ คนยากคนจนทั่วโลก
ข้อที่สาม กรณีของไทย การให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการซื้อตราสารหนี้เอกชน 4 แสนล้านบาท จึงควรทำเป็น พ.ร.บ.มาตรการทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินจากผลกระทบโควิด-19 ผ่านรัฐสภาจะได้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลและทำให้เกิดความรอบคอบ
"ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน จะเรียนไปยังประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ นำเรื่องนี้เข้าไปเป็นวาระเพื่อการพิจารณาโดยด่วนที่สุด เมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งจริงๆแล้วสามารถประชุมหรือหารือกันนอกสมัยประชุมสภาได้ผ่านทาง Video Conference
ข้อที่สี่ กองทุนซื้อตราสารหนี้เอกชนมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการคอร์รัปชันได้หากไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพ จึงฝากไปถึงคณะกรรมการแบงก์ชาติและผู้บริหารดังต่อไปนี้ คือ คำถามแรก คือ จะมีระบบหรือกลไกอย่างไรในการแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ท่านจะป้องปรามการตัดสินใจที่อาจมีผลประโยชน์อันมิชอบแอบแฝง จากการแปลง"หนี้เอกชน" และแปลง"การขาดทุน"ของนักลงทุน มาเป็นภาระต่อประชาชนและประเทศชาติในอนาคตอย่างไม่เป็นธรรมได้อย่างไร คำถามข้อที่สอง คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้บริหารแบงก์ชาติ เสนอ พ.ร.ก.ซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยกังวลผลกระทบที่มีต่อระบบการเงินเองหรือมีใครสั่งให้ทำ หากเป็นคำสั่งของผู้อำนาจรัฐ ท่านต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมทวนคำสั่งว่าผู้มีอำนาจรัฐทำผิดกฎหมายหรือไม่
ข้อที่ห้า การใช้มาตรการการเงินแบบกองทุน 4 แสนล้านบาทนี้ เป็นการแปลงหนี้เอกชนให้กลายเป็นหนี้สาธารณะในที่สุด (หากขาดทุน) เป็นการเพิ่มอัตราเร่งของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว นอกจากนี้ ปัญหาการซื้อหนี้เอกชนมาอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังอาจทำให้เกิด Moral Hazard ในระบบ
ข้อที่หก บริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่มีปัญหาต้องปรับโครงสร้างทางการเงินด้วยการลดทุนแล้วจึงเพิ่มทุน ก็สามารถออกตราสารหนี้ขายธนาคารพาณิชย์แล้วมาขายต่อให้แบงค์ชาติได้ ไม่จำเป็นที่แบงค์ชาติต้องเข้าซื้อโดยตรง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort)
ข้อที่เจ็ด การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง โดยการออกเป็นพระราชกำหนดโดยไม่ผ่านรัฐสภา จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคตได้ หากประเทศไทยไม่ได้มีคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหารที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมาในอนาคต กฎหมายใหม่ที่ออกโดยอำนาจรัฐบาลโดยไม่ผ่านรัฐสภานี้ จะอนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดุลยพินิจในการช่วยเหลือบางรายและไม่ให้แก่ช่วยเหลือบางราย ซึ่งในหลายกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่ได้ตัดสินใจอย่างเป็นอิสระและอย่างมืออาชีพก็ได้ จะทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางย้อนกลับไปอยู่ในสภาพเดียวกับช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 ก่อนวิกฤติปี 2540
ข้อที่แปด หากสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทในการซื้อตราสารหนี้เอกชนนั้นไม่สามารถพยุงตลาดการเงินได้ เพราะตลาดการเงินไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกาภิวัตน์ตลาดการเงินโลก และตลาดตราสารหนี้มีขนาดมากกว่า 3 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลยังยืนยันจะจัดตั้งกองทุนซื้อตราสารหนี้เอกชน ทางการควรต้องให้เอกชนมาผู้ร่วมออกเงินทุนเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเงินสาธารณะ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยนำไปใช้ทำธุรกรรมปกป้องค่าเงินบาทในช่วงปี 39- ก.ค.40 และทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก แทนที่จะรีบตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวก่อนหน้านั้นประมาณ 2-3 ปี
นายอนุสรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดปัญหาทั้งด้านอุปสงค์มวลรวมทั่วโลกรวมทั้งไทยหดตัวอย่างฉับพลันรุนแรง เพราะคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันอุปทานมวลรวมทั่วโลกรวมทั้งไทยก็เกิดภาวะชะงักงัน ประชาชนจำนวนมากสูญเสียความเชื่อมั่น หวั่นไหวต่อการถูกปลดจากงาน ไม่มั่นใจต่อรายได้ในอนาคตการมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพียงแค่การชดเชยรายได้ (แจกเงิน) จึงไม่เพียงพอ หรือการขยายปริมาณเงินผ่านมาตรการ QE นั้น ก็ช่วยบรรเทาปัญหาความยากลำบากทางการเงินและเศรษฐกิจเท่านั้น
"กรณีของไทยการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นแปลงหนี้เอกชนให้กลายเป็นหนี้สาธารณะในที่สุด และเพิ่มอัตราเร่งของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นของโลกอยู่แล้ว" นายอนุสรณ์ระบุ
นอกจากนี้ ปัญหาการซื้อหนี้เอกชนมาอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังทำให้เกิด Moral Harzard ในระบบอีก การมีกรอบความคิดเศรษฐกิจใหม่ๆ มาผสมผสานกับกรอบความคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เช่น เศรษฐกิจดุลยธรรม พุทธเศรษฐศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนกว่า และไม่ก่อให้ภาระจำนวนมากสำหรับลูกหลานไทยในอนาคต