นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด -19 จึงได้ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชนต่างๆ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
โดยที่ประชุมได้หารือเสนอข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่สำคัญ อาทิ (1) ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และลดค่า ft ตามราคาน้ำมัน (2) เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า (3) ขอใหรัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม (4) ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs เหลือไมเกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่น เหลือไม่เกิน 20% (5) รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ
(6) ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ (7) อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาท ในระยะเวลา 4-8 ชั่วโมงต่อวัน (8) ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% (9) ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดยรัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง (10) บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานในช่วงโควิด-19 มาหักภาษี 3 เท่า (11) การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน (12) การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน
"ภาคเอกชนได้เสนอถึงปัญหา อุปสรรค และความชัดเจนของมาตรการ เช่น การเข้าถึงวงเงินสินเชื่อผ่อนปรนที่มีเงื่อนไขค่อนข้างรัดกุม ทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าถึงได้ การกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถจ้างแรงงานโดยใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ครอบคลุมทั้งระยะเร่งด่วน และระยะฟื้นฟู รวมถึงการปรับโครงสร้างภาคเกษตรไปสู่การทำเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ
ทั้งนี้ ได้ขอให้คณะที่ปรึกษาฯ จัดทำและรวบรวมประเด็นข้อเสนอแนะเฉพาะด้าน เพื่อสรุปรายละเอียดให้ที่ประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนฯ ได้พิจารณาในวันจันทร์หน้า (20 เม.ย.) อีกครั้ง ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) มอบหมายให้ประธานสมาคมธนาคารไทยทำหน้าที่ดูแลในส่วนนี้ 2. กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ มอบหมายให้ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแล 3. กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มอบหมายให้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแล 4. กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร มอบหมายให้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติดูแล และ 5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) มอบหมายให้ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแล
"เราจะแยกการทำงานเป็น 5 กลุ่ม จะพยายามทำข้อสรุปให้เป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด เพื่อเสนอ ครม. โดยกำหนดว่าจันทร์หน้า (20 เม.ย.) จะนำข้อสรุปเบื้องต้นมาดู ตรงไหนทำได้ ตรงไหนติดขัด ต้องคุยกับหน่วยงานไหน จะพยายามทำให้เร็วที่สุด แล้วนำข้อเสนอทั้งหมดที่เป็นรูปธรรมนี้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป" นายทศพรกล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเป็นห่วงกลุ่ม SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากมาตรการที่ออกมายังไม่มีความชัดเจนนัก พร้อมมองว่าผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 บางส่วนยังต้องมีภาระในการจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้กับพนักงานลูกจ้างอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ตามปกติ ดังนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแบ่งเบาภาระของภาคเอกชน ด้วยการช่วยจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างในอัตรา 50% ส่วนผู้ประกอบการจะรับผิดชอบ 25% เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้จะคิดจากฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท ซึ่งรัฐจะมีเพดานในการสนับสนุนไม่เกิน 7,500 บาทต่อคน รวมทั้งการพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม SMEs ไม่ต้องชำระภาษีนิติบุคคลในระยะ 2 ปีจากนี้ เนื่องจากไม่มีความสามารถในการทำกำไรและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดทุน
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่เอกชนได้ทำสัญญากับรัฐบาลไว้ก่อนหน้านี้ แต่มีปัญหาไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันกำหนด เนื่องจากติดเงื่อนไขและข้อบังคับต่างๆ ทางกฎหมายภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น จะขอให้ภาครัฐพิจารณาเลื่อนกำหนดสัญญาออกไปอีกประมาณ 4 เดือนได้หรือไม่
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ได้มีการหยิบยกประเด็นที่ในปัจจุบันมีต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก และมีปัญหาเรื่องวีซ่าจะหมดอายุ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ต่ออายุให้ถึงสิ้นเดือนเม.ย.63 แล้วนั้น แต่จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะขยายอายุวีซ่าออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.63 รวมทั้งให้ครอบคลุมถึง Work permit ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังจะขอให้พิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบในเรื่องการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทแบบ E-Meeting ซึ่งระเบียบข้อบังคับการประชุมในปัจจุบันกำหนดว่ากรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่สถานที่เดียวกัน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะทำได้ค่อนข้างยาก จึงต้องการให้ผ่อนคลายกฎระเบียบและข้อบังคับในส่วนนี้ด้วย
"ตอนนี้ เราประเมินว่าภาพรวมในช่วงนี้จะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องตกงานประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน โดยไม่มีมาตรการอะไรมาดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม อาจทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคน" นายกลินท์ระบุ
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนประกอบด้วย 2 ส่วน ในส่วนแรกเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทของธนาคารออมสิน ซึ่งมีเงื่อนไขปล่อยกู้ให้ได้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยมีผู้ต้องการสินเชื่อจำนวนมาก ทำให้ธนาคารต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ
ส่วนที่สอง เป็นซอฟท์โลนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 5 แสนล้านบาท ซึ่งระหว่างนี้จะต้องรอให้ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้เสียก่อน เพื่อดูรายละเอียดที่แท้จริงของการปล่อยกู้ซอฟท์โลน เพราะปัจจุบันยังมีเพียงแค่กรอบกว้างๆ ว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ลูกค้าได้ไม่เกิน 20% ของหนี้ที่ค้างอยู่ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา โดยยอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อราย
"การปล่อยกู้ซอฟท์โลนที่ล่าช้าของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมาก มีเกณฑ์เรื่องการพิจารณาสินเชื่อ การดูหลักประกันที่มาขอสินเชื่อ ดูความสามารถการชำระคืนในอนาคตของผู้กู้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย คณะทำงานจะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในสัปดาห์หน้าให้มีความชัดเจน เพื่อให้การปล่อยกู้ซอฟท์โลนทำได้เร็วขึ้น" นายปรีดี กล่าว