นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า กรมการประกันภัยร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จัดทำโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีน้ำฝนเป็นตัวชี้วัด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การคุ้มครองภัยแล้งสำหรับพืชผลที่เอาประกันภัยเริ่มนำร่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีเกษตรกรซื้อกรมธรรม์ดังกล่าวแล้ว 35 ราย รวมพื้นที่เพาะปลูก 962 ไร่ เบี้ยประกันภัยรวม 89,030 บาท วงเงินคุ้มครอง 1,331,900 บาท ระยะเวลาคุ้มครองวันที่ 16 ก.ค.-13 ต.ค.50
"กรมธรรม์นี้เป็นทางเลือกใหม่ที่ลดความเสี่ยงของเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ขณะเดียวกันเราจะขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่นและพืชผลชนิดอื่นด้วย ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลกเสนอให้ความช่วยเหลือในการศึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการจัดทำดัชนีแล้ว" นางจันทรา กล่าว
ด้านนายสุจินต์ หวั่งหลี นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า เบี้ยประกันภัยมี 2 อัตราคือ 114 บาท/ไร่ และ 80 บาท/ไร่ ซึ่งเป็นอัตราที่เกษตรกรสามารถจ่ายได้ การคุ้มครองแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะ 1 ช่วงเพาะปลูก (30 วัน) ระยะ 2 ช่วงเติบโต (20 วัน) และระยะ 3 ช่วงออกดอกออกผล (30 วัน) โดยจะนำค่าปริมาณน้ำฝนสะสมจริงในแต่ละระยะมาเปรียบเทียบกับค่าดัชนีน้ำฝนในกรมธรรม์ และจะชดเชยความเสียหายตามปริมาณน้ำฝนที่ขาดไปในแต่ละระยะคุ้มครอง โดยคุ้มครองสูงสุด 1,700 บาท/ไร่ หรือ 1,200 บาท/ไร่ขึ้นกับอัตราเบี้ยประกันที่เกษตรกรจ่าย
"แม้เบี้ยประกันภัยจะเหมาะสมกับเกษตรกร แต่ยังต่ำเกินไปสำหรับบริษัท เพราะเราคุ้มครองสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนในระยะยาว อีกทั้งยังไม่มีบริษัทประกันภัยในต่างประเทศรับประกันภัยต่อ แต่หากผู้เอาประกันภัยเพิ่มขึ้นและพอเพียงก็จะทำให้บริษัทเสี่ยงต่อการขาดทุนน้อยลง" นายสุจินต์กล่าว
ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมโครงการรับทำประกันภัยพืชผลแล้ว 10 บริษัท คือ ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, ทิพยประกันภัย, นวกิจประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, สินมั่งคงประกันภัย, มิตซุย สุมิโมโต อินชัวรันช์, วิริยะประกันภัย,ศรีอยุธยาประกันภัย และไทยรับประกันภัยต่อ
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--