นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกช่วงวันที่ 6-12 เม.ย. 63 ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นการทยอยลดกำลังการผลิตน้ำมันไปถึงปี 65 แต่ตลาดยังคงไม่หลุดพ้นปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด และคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงลดลง
สำหรับข้อตกลงเบื้องต้นของโอเปกพลัส จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 จะปรับลดการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนในเดือน ก.ค. - ธ.ค. 63 จะปรับลดลง 8 ล้านบาร์เรล/วัน และในช่วงเดือน ม.ค. 64 ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 65 จะปรับลดลงไปเหลือที่ 6 ล้านบาร์เรล/วัน โดยที่ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียตกลงจะลดกำลังการผลิตประเทศละ 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างก็ประเมินว่าการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส และผู้ผลิตรายอื่น จะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดหลุดพ้นจากปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้
ล่าสุดบริษัท Trafigura คาดการณ์ว่าในเดือน เม.ย. 63 นี้ อุปสงค์น้ำมันจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านบาร์เรล/วัน จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ผลของราคาน้ำมันที่ตกต่ำอาจจะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง
สำหรับค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.03 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.9722 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.18 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.07 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.09 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.58 บาท/ลิตร
ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 12 เม.ย. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 56,540 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 20,391 ล้านบาท คิดเป็นฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 36,149 ล้านบาท แยกเป็น บัญชีน้ำมัน 41,837 ล้านบาท และบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) -5,688 ล้านบาท