นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศปิดโรงงานผลิตหรือชะลอการผลิตรถยนต์ จึงทำให้ความต้องการยางลดลงด้วย แต่สำหรับยางไทยยังมีโอกาสขยายส่งออกได้ เนื่องจากพบว่าทั่วโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไวรัสเพิ่มมากขึ้น อาทิ ถุงมือยาง ยางสังเคราะห์ที่ใช้ทำถุงมือยาง
โดยได้รับรายงานว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.63) การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูปของไทยไปตลาดโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า ซึ่งช่วยให้สามารถขยายการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น จึงได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งศึกษาข้อมูลช่องทางขยายตลาดส่งออกยางของไทย โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกให้ผู้ประกอบการไทย ในช่วงวิกฤตโควิด-19
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง และยางแปรรูปในลักษณะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางยืด ยางรัดของ และยางสังเคราะห์ เป็นต้น ไปตลาดโลกมีมูลค่า 1,969 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ เอฟทีเอถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยขยายตัว เนื่องจากสินค้าไทยไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากรในประเทศผู้นำเข้า โดยปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ซึ่งมี 14 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางส่งออกจากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และฮ่องกง ยังเหลืออีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และ ชิลี ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางบางรายการจากไทย เช่น จีน เก็บภาษียางสังเคราะห์ อัตรา 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษียาและงสังเคราะห์ อัตราร้อยละ 5 อินเดีย เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่ง และของที่ทำด้วยยาง เช่น rubber band อัตราร้อยละ 5 และชิลี เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่งและรถบัสอัตรา 1.32% เป็นต้น
สำหรับในปี 2562 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 5,143 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 46% ของการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดของไทย เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไทยไปตลาดโลก ในปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ พบว่าไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นถึง 2,981% และส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางไปประเทศคู่เอฟทีเอ ขยายตัวถึง 5,970%
ซึ่งหากแยกรายตลาด พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอเพิ่มขึ้นทุกตลาด (เว้นฮ่องกงที่เพิ่งเริ่มใช้บังคับมิถุนายน 2562) โดยอาเซียนขยายตัวสูงสุดถึง 5,674% รองลงมา จีน ขยายตัว 2,721% นิวซีแลนด์ ขยายตัว 706% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 574% สอดคล้องกับสถิติที่พบว่าผลิตภัณฑ์ยางเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น
ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูป เป็นอันดับที่ 4 ของโลก (รองจาก จีน เยอรมนี และสหรัฐฯ) โดยส่งออกไปทั่วโลก มีมูลค่า 11,238 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2561 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย โดยแบ่งเป็นประเภท อาทิ ยางยานพาหนะ สัดส่วน 51% (ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทย) ยางสังเคราะห์ สัดส่วน 19% และถุงมือยาง สัดส่วน 11%