ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่ารวม 35,967ล้านบาท
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การลงทุนทั้ง 9 โครงการจะใช้วัตถุดิบในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 11,174 ล้านบาทต่อปี และเกิดการจ้างแรงงานคนไทย 1,682 คน ประกอบด้วยโครงการดังต่อไปนี้
1.กิจการผลิตเหล็ก ในนามบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มูลค่าเงินลงทุน 3,900 ล้านบาท เป็นการขยายกำลังการผลิตเหล็กขั้นต้น (น้ำเหล็ก กำลังการผลิต 500,000 ตันต่อปี เหล็กถลุง 150,000 ตันต่อปี) และการผลิตเหล็กขั้นกลาง (STEEL BILLET กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี) ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศทั้งหมด คาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เศษเหล็ก หินฟูน โดโลไมท์ เป็นต้น มูลค่ารวม 1,689.9 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างแรงงานไทย 400 คน
2.กิจการผลิตเหล็กแผ่นหนา (HR PLATE) ในนามบริษัท บางประกงเพลทมิล จำกัด ผลิตเหล็กแผ่นหนา ตั้งแต่ 4.5-150 มม. ความกว้างตั้งแต่ 1,000-3,300 มม. ความยาว 2,000-18,500 มม. เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร เครื่องยนต์ ต่อเรือ ท่อปิโตรเลียม แท่นขุดเจาะน้ำมัน ถังความดันสูง หม้อไอน้ำ และก่อสร้าง กำลังการผลิตประมาณ 2,360,000 ตันต่อปี มูลค่าเงินลงทุน 12,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นกิจการรายแรกในประเทศที่มีการผลิตเหล็กแผ่นหนาขนาดกว้าง 2,438-3,300 มม. ตั้งโรงงานในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้วัตถุดิบในประเทศปีละ 125 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 430 คน
3.กิจการประกอบรถยนต์ ของ บริษัท ทาทา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการประกอบรถปิกอัพ ขนาด 1 ตัน เงินลงทุนประมาณ 1,302 ล้านบาท ตั้งโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณโรงงานเดิมของบริษัทธนบุรี ประกอบรถยนต์ จำกัด มีปริมาณผลิตรถปิคอัพทั้งสิ้น 35,000 คันต่อปี มุ่งเน้นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 80% โดยจะใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 54% คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,914 ล้านบาทต่อปี เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ Propeller Shaft ชิ้นส่วน ระบบบังคับเลี้ยว ชิ้นส่วนโครงรถยนต์ และชิ้นส่วนระบบกันสะเทือน เป็นต้น เกิดการจ้างแรงงานไทย 482 คน
โดยกิจการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนของบริษัท Tata Motors จำกัด ประเทศอินเดีย กับบริษัท ธนบุรี ประกอบรถยนต์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและประกอบรถยนต์ให้เบนซ์ในประเทศไทย
4.กิจการผลิตฟิล์มและแผ่นพลาสติก ในนามบริษัท เอ เจ พลาสท์ จำกัด (มหาชน) โดยได้รับส่งเสริมขยายการผลิต BOPP FILM กำลังการผลิตปีละประมาณ 34,000 ตัน ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 800 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่ง BOPP FILM จะนำไปใช้ผลิตเป็นซองบรรจุสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น อาหาร ขนมขบเคี้ยว เสื้อผ้า แชมพู ดอกไม้ เทปกาว กระดาษห่อของขวัญ เป็นต้น เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตประมาณ 1.7-1.8 เท่าของ GDP หรือที่อัตรา ร้อยละ 10-12 คาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศปีละ 837 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 150 คน
5.กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก ในนามบริษัท ไทย เอ็มเอ็มเอ จำกัด โดยได้รับส่งเสริมขยายการผลิตแผ่นอะคริลิก (ACRYLIC SHEET) กำลังการผลิต ปีละประมาณ 26,000 ตัน มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,270 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จังหวัดระยอง โดยแผ่นอะคริลิกที่ผลิตได้ในกิจการนี้ จะเป็นชนิด CONTINUOUS CAST SHEET ที่เหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้าจอคอมพิวเตอร์ และทีวีจอแบน (จอ LCD) เป็นต้น ส่วนแผ่นอะคริลิกคุณภาพต่ำกว่า นำไปผลิตอ่างอาบน้ำ ป้ายโฆษณา เป็นต้น โดยจะเริ่มการผลิตได้ประมาณเดือนตุลาคม ปี 2552 ใช้วัตถุดิบในประเทศปีละประมาณ 1,206 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 79 คน
6.กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ของบริษัท ไทย เอ็มเอ็มเอ จำกัด ได้รับส่งเสริมในการขยายกิจการผลิต METHYL METHACRYLATE (MMA) 105,000 ตันต่อปี และ LOW CONCENTRATION ISOBUTYLENE 137,000 ตันต่อปี มูลค่าเงินลงทุน 7,340 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โครงการผลิต METHYL METHACRYLATE หรือ MMA ถือเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
อะคริลิกและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สี กาว สารเคลือบเงา เป็นต้น คาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศปีละ 1,428 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 26 คน
7.กิจการประปาหรือน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ของบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตน้ำเพื่อป้อนให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปีละประมาณ 16.2 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าเงินลงทุน 1,062 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เกิดการจ้างแรงงานไทย 45 คน
8.กิจการผลิตไฟฟ้า ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตไฟฟ้า 32 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โครงการนี้จะผลิตไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงจากความร้อนทิ้ง (Waste Gas) จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ โดยเทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่นและจีน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 30-39 หน่วยต่อการผลิตปูนเม็ด 1 ตัน และใช้ Waste Gas เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้ไม่เกิดกระบวนการเผาไหม้ที่จะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังเป็นการลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า จึงช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย คาดจะมีการจ้างแรงงานไทย 32 คน
9.กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำ เพื่ออุตสาหกรรม ของบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตไฟฟ้า 113.2 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 330ตัน/ชั่วโมง น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 360 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง น้ำปราศจากแร่ธาตุ 140 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และน้ำ Condensate Return Water 90 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง มูลค่าเงินลงทุน 5,595 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ คือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มูลค่าปีละประมาณ 1,974 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 40 คน
โครงการนี้นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยใช้เทคโนโลยี Steam Injection/SCR ซึ่งจะลด NOx โดยปัจจุบันการใช้เทคโนโลยี SCR ในการลด NOx มีความนิยมแพร่หลายในทวีปยุโรป
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--