นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง มีมติในคราวประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้กรมประมงดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมกุ้งทะเลจากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด–19 ให้สามารถรักษาฐานการผลิตกุ้งทะเลและอาชีพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้คงได้อย่างมั่นคง และรักษาเสถียรภาพราคากุ้งทะเลให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล เป็นการช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ผลิตลูกพันธุ์ ผู้ค้าปัจจัยการผลิต ห้องเย็น โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและผู้ส่งออก
โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งปี 2563 ตั้งเป้าหมายปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลที่ห้องเย็นรับซื้อจากเกษตรกร 45,900 ตัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 15,300 ตัน ประกอบด้วย กุ้งแวนนาไม 45,000 ตัน เฉลี่ยเดือนละ 15,000 ตัน และกุ้งกุลาดำ 900 ตัน เฉลี่ยเดือนละประมาณ 300 ตัน จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 4,590 คน และจำนวนห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 20 โรง ดำเนินงานในจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และมีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563
"โดยในการดำเนินการครั้งนี้จะขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลโดยเร่งด่วน วงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าชดเชยส่วนต่างด้านราคาซื้อขายกับราคาเป้าหมายนำตลาด ค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในกุ้งทะเล ค่าบริหารจัดการโครงการฯ" นายอลงกรณ์กล่าว
"จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จนทำให้หลายประเทศมีการประกาศปิดพรหมแดน ทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้าต้องหยุดชะงักได้รับผลกระทบตลอดสายการผลิต ซึ่งภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ได้แก่ กุ้งแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย ที่มีสัดส่วนถึง 70% และมีมูลค่าการส่งออกรวมธุรกิจต่อเนื่องไม่น้อยกว่าแสนล้านบาทก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ประกอบกับประเทศผู้นำเข้ากุ้งทะเลจากประเทศไทยรายใหญ่ 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 28% ญี่ปุ่น 25% และสาธารณรัฐประชาชนจีน 19% เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบและมีความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาดนี้"นายอลงกรณ์ กล่าว