ก.เกษตรฯ เร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนผลไม้จากวิกฤตโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 15, 2020 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผลไม้เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น แม้ผลผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง แต่จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่หายไปกว่า 80% เพราะไวรัสโควิด 19 ทำให้กำลังบริโภคส่วนนี้หายไปมาก และการบริโภคในประเทศเองก็ไม่สามารถดูดซับผลผลิตทั้งหมดได้

"รมว.เฉลิมชัย เร่งสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนในเร็ววันนี้" นายอลงกรณ์กล่าว

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ แบ่งได้ออกเป็น 1. มาตรการด้านการผลิต ได้แก่ 1) การบริหารจัดการเรื่องแรงงานเก็บผลไม้ โดยจะมีการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขต ขยายการต่อใบอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอีก 3 เดือน และเน้นการตรวจสุขภาพให้แก่แรงงานทุกราย 2) การดูแลความเป็นธรรมเรื่องราคาและปริมาณ จะมีการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามาควบคุม 3) การส่งเสริมให้มีการทำคอนแทรกฟาร์มมิ่ง การส่งเสริมการซื้อขายผ่านสัญญาข้อตกลง และ 4) การเชื่อมโยงการกระจายผลไม้ผ่านห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต โดนเน้นแพจเกจบรรจุภัณฑ์ ขนาด 5 กิโลกรัม (กก.) 10 กก. และ 20 กก. เพื่อเริ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

2. มาตรการด้านตลาดในประเทศ ได้แก่ 1) ภาครัฐจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยขอความร่วมมือไปรษณีย์ไทยมาช่วยในการจัดส่งผลไม้ ฟรี 200 ตัน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 2) การผลักดันให้นำผลไม้จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายผลไม้ทางช่องทางออนไลน์ และ 3) การรณรงค์การบริโภคผลไม้ในประเทศ (Eat Thai First) เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้บริโภคผลไม้ไทยเกรด Premium ในราคายุติธรรมตามฤดูกาล และส่งเสริมให้นำผลไม้มอบเป็นของฝากของขวัญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้า ครม. ในการขอให้ส่วนราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกว่า 10,000 แห่ง รวมทั้งองค์การมหาชนต่างๆ ช่วยซื้อผลไม้ทุกสัปดาห์ และสร้างจุด Drop Off ทั่วประเทศ

3. มาตรการด้านตลาดต่างประเทศ ได้แก่ 1) เดินหน้าการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในรูปแบบออนไลน์ให้มากขึ้น และ 2) มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนขายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และช่วยดูในเรื่องการจัดหาสินค้านำเข้า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศ

4. มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) ช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้ในอัตรา 3% ระยะเวลา 10 เดือน 2) ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้เพื่อส่งออกในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน และ 3) ช่วยค่าใช้จ่ายรวบรวมเพื่อส่งออกอีกกิโลกรัมละ 3 บาท เป้าหมาย 1 หมื่นตัน

5. มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเตรียมมาตรการช่วยลดภาระทางการเงิน ซึ่งมอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งได้ขอความร่วมมือ ธ.ก.ส. ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร โดยบอร์ด ธ.ก.ส. ได้พิจารณาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ดังนี้

1) ให้ปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ โดยปลอดการชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ระยะเวลาการดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564

  • เกษตรกรหรือลูกหนี้รายบุคคล ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 15 ปี
  • กรณีผู้ประกอบการและสถาบัน ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 20 ปี

2) สนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้เกษตรกร สถาบันเกษตร และผู้ประกอบการเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องดำเนินธุรกิจ ดังนี้

  • รายบุคคล ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย -0.25% จากสินเชื่อปกติ
  • สถาบัน วงเงินไม่จำกัด อัตราดอกเบี้ย MLR -0.5%

6. มาตรการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการมาตรฐานผลไม้ ได้แก่ สร้าง Central Lap ของไทยกรณีสินค้าเกษตรส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะไม่มีการตรวจสอบซ้ำที่ด่านปลายทาง ทั้งนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานฝ่ายจีน และเร่งออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรไทย รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ด้านเทคนิคการบรรจุห่อเพื่อยืดอายุผลไม้ในยาวนานขึ้น

7. มาตรการเก็บรักษาและแปรรูปสร้างมูลค่าผลไม้โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

7.1 ผลไม้ส่วนเกินนำเข้าสู่ระบบการเก็บรักษาด้วยการอบการแช่เย็นและวิธีอื่นๆ

7.2 การแปรรูปผลไม้เป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับตลาดในและต่างประเทศ

8. มาตรการเพิ่มปริมาณการบริโภคภายในประเทศ

8.1 ระบบโลจิสติกส์และการจำหน่ายผลไม้ทุกชุมชนทั่วประเทศโดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผลไม้ร่วมกับผู้ประกอบการผลไ ม้และผู้ประกอบการบริการโลจิสติกส์โดยการสนับสนุนงบประมาณของคชก.และกระทรวงพาณิชย์รวบรวมผลผลิตขนส่ง และจำหน่ายทั่วประเทศผ่านร้านธงฟ้า สหกรณ์ รถเร่และตลาดชุมชนกว่า 70,000 จุด

8.2 ขอความร่วมมือหน่วยราชการส่วนกลาง/ภูมิภาค/ท้องถิ่น-รัฐวิสาหกิจ-องค์กรมหาชน-รัฐสภา-องค์กรอิสระช่วยซื้อผลไม้โดยแจ้งปริมาณจะจัดส่งทุก 5 วันและขอความร่วมมือเป็นจุดขาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ