บสท.เผย LH-PS-CPN-ทีซีซีแลนด์ ติดต่อซื้อที่ดิน รง.ไทยเมล่อน 600 ไร่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 20, 2007 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)เผยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายรายสนใจเข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินของโรงงานไทยเมล่อน จำนวนกว่า 600 ไร่ติดถนนวิภาวดีรังสิต ได้แก่ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH) บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา(CPN)  บมจ.ทีซีซี แลนด์ ของนายเจริญ  สิริวัฒนภักดี โดยราคาเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท  
"ทางเราได้เสนอที่ดินผืนนี้ไปให้กับบริษัทอสังหาฯใหญ่เมื่อปลายปี ทุกรายที่เสนอเขาสนใจหมด แต่ตอนนี้ก็ต้องให้เวลาศึกษาซึ่งคิดว่าใช้เวลาเป็นปี เพราะพื้นที่ดังกล่าวใหญ่มากและทำเลดี คิดว่าคงทำเป็นหลายโครงการ เป็นคอมเพล็กซ์มากกว่า" นายเชาวรัตน์ เชาวน์ชวนิล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาสินทรัพย์ บสท.กล่าว
ในปีนี้ บสท.มุ่งเป้าหมายจะขายสินทรัพย์รอการขาย(NPA)ให้ได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขายไปได้แล้ว 4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขายที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและบรรยากาศการลงทุนยังไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ และค่าเงินบาทแข็งที่มีผลทางอ้อมต่อการลงทุนของธุรกิจ แต่ก็เชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงจะมีส่วนช่วยให้การขายสินทรัพย์ทำได้ตามเป้าหมาย
"ครึ่งปีหลังก็ยังคงมีเรื่องการเมือง นโยบายของแบงก์ที่ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แต่เราพยายามจะให้ได้ตามเป้า ไม่ได้ปรับเป้า ...ดูจากอดีตนเมื่อหุ้นบูม อสังหาฯก็จะบูมตาม เพราะเงินที่ได้จากการขายหุ้นสุดท้ายก็มาลงที่อสังหาฯ" นายเชาวรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ซื้อที่ทำโรงงาน , โลจิสติกส์ โดยที่ผ่านมาแปลงใหญ่ที่ขายแล้ว ได้แก่ บริเวณเจริญนคร ซึ่งติดกับเส้นทางรถไฟฟ้าช่วงสถานีถนนตากสิน ขายให้กับบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง
จำนวน 4 ไร่ราคากว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำโครงการคอนโดมิเนียม, บริเวณบางใหญ่ ซึ่งบริษัทจดทะเบียนเข้ามาซื้อเช่นกัน แต่คาดว่าพัฒนาเป็นโครงการแนวราบ ราคาที่ขายได้ 70-80 ล้านบาท , บริเวณสี่แยกเกษตร-นวมินทร์ พื้นที่ 27 ไร่ ราคากว่า 500 ล้านบาท ขายให้กับบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน
"ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าเราขายไปหลายแปลงเข้ามาซื้อกันตั้งแต่ปีที่แล้ว ในเมืองที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าเหลือน้อยแล้ว แต่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ก็ยังมีอยู่เยอะพอสมควร" นายเชาวรัตน์ กล่าว
ณ สิ้นมิ.ย.50 ยอด NPA ของบสท.อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท โดยคิดเทียบจำนวนพื้นที่อยู่ในต่างจังหวัด 65-70% ส่วนอีก 30-35% อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และจะมีอีกจำนวน 5 หมื่นล้านบาททยอยเข้ามาขึ้นอยู่ระยะเวลาการบังคับคดี
นายเชาวรัตน์ กล่าวว่า นอกจากผู้ประกอกการอสังหาริมทรัพย์ บสท.ยังร่วมกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ เช่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) โดยเฉพาะองค์กการบริหารท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยปีหน้าทางการมีนโยบายให้จัดการด้านสาธารณสุขเอง ซึงจะต้องมีการจัดหาพื้นที่สร้างสาธารณสุข หรือสถานบริการพยาบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ