นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กรณีนายกรัฐมนตรีระบุว่ามีเงินจ่ายในมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-49 แค่เดือน เม.ย.เพียงเดือนเดียวนั้น เข้าใจว่าเป็นงบประมาณในส่วนที่กันไว้จากปีงบประมาณ 2563 แต่เมื่อมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทก็จะมีการใช้เงินเข้ามาใช้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนงานของรัฐบาล ดังนั้นเงินที่จะจ่าย 5,000 บาท/เดือนในอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ค.-มิ.ย.) ขึ้นอยู่กับ พ.ร.ก.กู้เงินฯ จะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อใด เพราะหลังจากนั้นจึงจะสามารถกู้เงินได้
รมว.คลัง กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการเปิดให้ทบทวนสิทธิเป็นไปตามที่ตกลงไว้คือวันที่ 20 เม.ย.63 จะเปิดให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์สามารถแจ้งทบทวนสิทธิได้ ซึ่งก็จะทำควบคู่กันไป โดยไม่จำเป็นต้องรอให้การตรวจคุณสมบัติผู้ที่มาลงทะเบียนครบทั้ง 27 ล้านคน ประชาชนที่ต้องการยื่นขอทบทวนสิทธิก็สามารถยื่นเข้ามาได้เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การขอทบทวนสิทธิไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ได้รับเงิน 5,000 บาททุกคน เพราะจะมีการตรวจสอบดูว่าข้อมูลส่วนใดที่ขาดหายไป เมื่อได้ข้อมูลก็จะทบทวนเป็นรายคนว่าสมควรจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทหรือไม่
รมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากที่แจ้งทบทวนสิทธิแล้ว เมื่อเข้าสู่ระบบในวันที่ 20 เม.ย. ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บข้อมูลรายบุคคล เพื่อทบทวนข้อมูลให้ถูกต้อง โดยจะมีการใช้เจ้าหน้าที่คลังจังหวัด ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงมหาดไทย จะเข้าไปดูข้อมูลเป็นรายบุคคลในพื้นที่ที่เข้ามายื่นทบทวนสิทธิ ซึ่งขณะนี้กำลังประชุมประสานงานกันอยู่ ทั้งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน
"ตอนนี้กำลังเตรียมงานอยู่ เชื่อว่าอาทิตย์หน้าจะเริ่มทันที ส่วนยื่นมาแล้วจะผ่านหรือไม่ ก็ต้องดูอีกที อยู่ที่เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะตอนนี้เปิดให้ทุกคนที่ไม่ผ่าน มาให้ข้อมูลเพิ่ม ก็จะส่งไปดูเป็นรายคนเลย เบื้องต้นจะขอดูเฉพาะคนที่มายื่นทบทวนก่อน ส่วนคนที่ได้ไปแล้วก็จะมีการตรวจสอบภายหลัง ที่ไม่เหมาะสม" นายอุตตมกล่าว
นายอุตตม กล่าวอีงกรณีที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนด้วยระบบ AI นั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ AI เป็นผู้ตัดสินว่าใครได้รับหรือไม่ได้รับเงิน AI เป็นเพียงระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งการดูแลข้อมูลจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบด้วย แต่เนื่องจากข้อมูลมีจำนวนมากจึงต้องใช้ AI เข้ามาช่วย
ขณะที่คำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลนั้น คณะกรรมการฯ ชุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องการแจกเงิน 5,000 บาทเท่านั้น แต่ครอบคลุมการแจกเงินทุกเรื่อง ทุกมาตรการเยียวยา ซึ่งรวมถึงการแจกเงิน 5,000 บาทในมาตรการ"เราไม่ทิ้งกัน"ด้วย
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการเยียวยาประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยและต้องการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและจะทำอย่างเต็มที่
"นายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณแล้วหรือจะจ่ายให้ประชาชนเพียงเดือนเดียว แต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงถึงขั้นตอน กติกา ให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน"