ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ม.หอการค้าไทย ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่ เนื่องจากพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น
โดยล่าสุด ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ภายใต้สมมติฐานที่ว่ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 3 ออกมา จะอยู่ที่ระดับ -4.9 ถึง -3.4% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่โต 1.1%
ส่วนการส่งออกไทยในปีนี้ คาดว่าจะหดตัวเหลือ -12 ถึง -8.8% จากเดิมคาด -1.1% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ระดับ -1 ถึง -0.5% จากเดิมคาดเพิ่มขึ้น 0.7%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 เนื่องจากในปีนี้มีหลายปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่สำคัญและส่งผลกระทบมาจากสุด ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากในปีนี้, ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ, ภาคครัวเรือนเพิ่มระดับความระมัดระวังในการใช้จ่าย, หนี้เสียของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวลงไปมาก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มมีสัญญาณที่ผ่อนคลายมากขึ้น, เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง, ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน, การลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ EEC เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ตลอดจนธนาคารกลางของทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้น
นายธนวรรธน์ ประเมินว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยและอาเซียนสามารถคลี่คลายลงได้ในช่วงกลางปี ก็คาดว่าบรรดาภาคธุรกิจต่างๆ จะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่มองว่าภาคการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้เร็วสุดในช่วงไตรมาส 4
"เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มเคลื่อนตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป หากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด เริ่มคลี่คลายได้ในช่วงเดือนพ.ค. หรือมิ.ย. ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากการควบคุมเฝ้าระวังที่เข้มข้น มาสู่การผ่อนคลายลง" นายธนวรรธน์ระบุ
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายซึ่งเป็นมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก มุ่งเน้นพยุงการจ้างงาน และรักษาระดับการบริโภคเพื่อประคองเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ล้มลง โดยมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน เช่น ลดภาระรายจ่าย และผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคครัวเรือน, ชดเชยรายได้ให้แก่แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว, ภาคัฐควรพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุน 25-50% ของรายจ่ายค่าจ้าง/เงินเดือน เพื่อชะลอการปลดคนงาน, รักษาอำนาจซื้อของประชาชนด้วยการควบคุมระดับราคาสินค้าที่จำเป็น, อนุมัติให้มีการแจ้งงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราว
ส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ ได้แก่ การลดภาระรายจ่ายและผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคธุรกิจ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ พักชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย ลดอัตราการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม, สนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการ SMEs, ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธุรกจที่ยังคงจ้างแรงงานในช่วงที่ถูกทางการสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว, ผ่อนคลายบางธุรกิจให้ทยอยเปิดกิจการได้อีกครั้ง
สำหรับระยะที่สอง มุ่งเน้นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน ได้แก่ เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน, อนุมัติให้ภาคธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างกรณีจ้างงานใหม่ (เฉพาะคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) มาหักภาษีได้ 2 เท่าในช่วง 1 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคลี่คลาย, เร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเปลี่ยนงานใหม่
ส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง, ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดอบรมสัมมนาเฉพาะสถานที่ภายในประเทศเท่านั้น, ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น