นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือนมี.ค.63 พบว่า อยู่ที่ระดับ 37.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
"ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 37.5 นี้ ถือว่าต่ำสุดตั้งแต่ที่เคยทำสำรวจมา ดัชนีที่หลุดจากระดับ 40 ลงไปเข้าสู่ในช่วงสีแดง ถือว่ามีความเสี่ยงสูง" นายธนวรรธน์ระบุ
โดยปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบสำคัญต่อดัชนีฯ ในเดือนมี.ค.นี้ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, การประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลให้มีการสั่งปิดกิจการบางประเภทชั่วคราว, นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง, ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชน, การส่งออกเดือนก.พ. ลดลง -4.47% เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงเล็กน้อย คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวลดลง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมี.ค.ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 38.3 ลดลงจากระดับ 45.8 ในเดือนก.พ. โดยมีปัจจัยลบสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ประชาชนจำกัดปริมาณการซื้อสินค้า หรือซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น, เริ่มมีการตกงานจากการปิดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมี.ค.ของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 37.3 ลดลงจากระดับ 44.5 ในเดือนก.พ. โดยปัจจัยลบสำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนชะลอตัวลง จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ปัญหาภัยแล้งที่ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมี.ค.ของภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 41.6 ลดลงจากระดับ 49.2 ในเดือนก.พ. โดยปัจจัยลบสำคัญ คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าลดลง, จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จนบางรายอาจต้องปิดกิจการ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมี.ค.ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 36.4 ลดลงจากระดับ 43.8 ในเดือนก.พ. โดยมีปัจจัยลบสำคัญ เช่น ผลกระทบของภาวะภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ประชาชนขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร อุปโภคและบริโภค, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนจับจ่ายซื้อสินค้าลดลง, ประชาชนกลับเข้ามาในจังหวัดมากขึ้นจากผลของการถูกเลิกจ้างงาน
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมี.ค.ของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 37.6 ลดลงจากระดับ 45.1 ในเดือนก.พ. โดยปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษจากเหตุไฟป่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยลดลง, ภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมี.ค.ของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 34.8 ลดลงจากระดับ 42.2 ในเดือนก.พ. โดยปัจจัยลบสำคัญ เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายสินค้าน้อยลง, การท่องเที่ยวหดตัวจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และผลกระทบของมาตรการตางๆ ที่ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส เช่น การปิดด่านชายแดน การจำกัดคนเข้า-ออก ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายในพื้นที่ไม่สามารถรับมือได้จนถึงขั้นต้องเลิกกิจการ และปลดพนักงาน
"ถ้าประเมินดูแล้ว จะเห็นว่าภาคใต้ได้รับผลกระทบมากสุด โดยดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ...ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ ธุรกิจท่องเที่ยว เพราะจากการระบาดของไวรัสโควิดได้กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรง และการบริการทั่วไป การล็อคดาวน์ประเทศ ก็ทำให้คนต่างชาติเข้าไทยไม่ได้" นายธนวรรธน์ระบุ
ทั้งนี้ ภาคเอกชนส่วนใหญ่มองว่าการประกอบธุรกิจในปัจจุบันแย่ลง ทั้งในแง่ของการบริโภคและการลงทุนภายในจังหวัดเอง และที่แย่ลงอย่างชัดเจนคือเรื่องการจ้างงาน แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต่างพยายามประคองภาวะนี้ไว้เพื่อไม่ให้มีการปลดคนงาน เพราะยิ่งจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากขึ้น
"ผู้ประกอบการภาคธุรกิจมองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ส่วนไตรมาส 3 ก็จะยังไม่ดีนัก โดยมุมมองของเอกชนเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในไตรมาส 4" นายธนวรรธน์ระบุ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีไปถึงภาครัฐเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
2. ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้
3. ให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน
4. บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% และบริษัทเอกชนจ่าย 25% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ในจำนวน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปกติ
5. ลดระยะเวลาการพิจารณาเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการในช่วงนี้ ผ่อนปรนให้ผู้ติดเครดิตบูโร จากเดิมที่ห้ามขอสินเชื่อภายใน 3 ปี ให้เหลือ 1 ปีสำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติดี
6. จัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับเกษตร และการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
7. เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารให้พร้อมรองรับกับเหตุการณ์ในอนาคต
8. ให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ