ก.แรงงานฯ เผย SCCC ปิดรง.ปูนสระบุรีปลดลูกจ้าง 144 คน รง.ปูนฯ อื่นยังไม่มีรายงานเลย์ออฟ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 17, 2020 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า การที่บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ประกาศปิดสายการผลิตโรงงาน 1 ของกิจการสระบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.63 เป็นต้นไปนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานจากทางจังหวัดสระบุรีว่า การปิดสายการผลิตในโรงงาน 1 ดังกล่าวจะกระทบต่อพนักงานที่มีอยู่ 144 คน ซึ่งได้แจ้งการปลดพนักงานทั้งหมดทั้งในส่วนของโรงงานและสำนักงาน จากพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมด 2,100 คน จากโรงงานปูนซีเมนต์ 3 แห่งของ SCCC โดยให้เหตุผลในการปิดสายการผลิตดังกล่าว เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีความจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทอื่นแจ้งการปิดโรงาน หรือปลดพนักงานเข้ามาแต่อย่างใด

"เรื่องนี้คงกระทบไปทั่วหมด เพราะตามรายงานเข้ามาแต่ละวันก็จะมีจำนวนโรงงานที่แจ้งเข้ามารายวัน มีทุกวัน มีโรงเล็ก โรงใหญ่ บางโรงมีสายป่านยาวก็ใช้การหยุดกิจการชั่วคราว ถ้าเป็นบริษัทที่ประเมินว่าสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะสู้ไม่ไหว เลิกกิจการไป เทียบกับปีที่ผ่านมา เราก็ยอมรับว่าแนวโน้มค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็นตัวเลขของหน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จากการที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วมาเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย เราพบว่าปีนี้มีจำนวนสถานประกอบการเลิกจ้างเป็น 2 เท่า ลูกจ้างได้รับผลกระทบจำนวนมากเกือบ 4 เท่า"นายอภิญญา กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เช้านี้

นายอภิญญา กล่าวว่า การจัดเก็บตัวเลขการเลิกจ้างของกรมฯ มาจากจำนวนพนักงานที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้วมายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62- มี.ค.63) มีแจ้งการปิดกิจการทั้งสิ้น 992 แห่ง จาก 511 แห่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีพนักงานที่มายื่นคำร้องทั่วประเทศ จำนวน 13,407 คน จาก 3,040 คนในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่สถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว มีทั้งสิ้น 1,113 แห่ง จาก 117 แห่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า ในแง่พนักงานที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 271,446 คน จาก 37,821 คนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก โดยตัวเลขดังกล่าวเฉพาะยอดผู้ที่เข้ามาร้องต่อกรมฯ ไม่นับรวมยอดการเลิกจ้างที่ไม่ได้เกิดข้อพิพาท

ทั้งนี้ การพิจารณายอดการเลิกจ้างต้องดูที่ตัวเลขของการขึ้นทะเบียนประกันตนกรณีการว่างงาน ซึ่งจะสะท้อนตัวเลขการถูกเลิกจ้าง โดยเบื้องต้นเฉพาะเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีประมาณ 140,000 คน ซึ่งเป็นผู้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน ทำให้ตัวเลขยอดการว่างงานในระบบขณะนี้น่าจะอยู่ที่ราว 700,000 คน ขณะที่คาดว่าสถานการณ์ตั้งแต่เดือนเม.ย.น่าจะเพิ่มขึ้นอีก โดยในส่วนของของกรมฯก็จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมาย

ส่วนรายงานข่าวการเลิกจ้างพนักงานซับคอนแทรกต์ของโรงงานแอร์มิตซูบิชิ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ประมาณ 1,200 คนนั้น เบื้องต้นมีรายงานเข้ามาบ้างแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ