น.ส.วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ว่า "ร่าง พ.ร.ฎ.เพิ่มเงินให้ผู้รับบำนาญ-ขยายเพดานวงเงินบำเหน็จ ผ่านการพิจารณาแล้วนั้น โดยระบุว่า บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 10,000 ให้ได้รับ 10,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท ไม่ถึง 20,000 ให้ได้รับ 20,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 30,000 ให้ได้รับ 30,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท
บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 40,000 ให้ได้รับ 40,000 และบวกเพิ่ม 10,000 บาท บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 50,000 ให้ได้รับ 50,000 และบวกเพิ่ม 5,000 บาท บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 60,000 ให้ได้รับ 60,000 และบวกเพิ่ม 5,000 บาท บำนาญรายเดือนที่ไม่ถึง 70,000 ให้ได้รับ 70,000 และบวกเพิ่ม 5,000 บาท"
โฆษกกรมบัญชีกลาง ยืนยันว่าข้อมูลที่มีการเผยแพร่ดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยกฎหมายดังกล่าวมีเพียงประเด็นปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) เท่านั้น ขอให้อย่าหลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อกันทางสื่อออนไลน์
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 โดยปรับเพิ่มเงินให้กับผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญรวมกันทุกประเภท และรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) แล้ว หากได้รับต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ปรับเป็นให้ได้รับเดือนละ 10,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น เดิมได้รับบำนาญและ ช.ค.บ. รวมกันในอัตราเดือนละ 9,360 บาท จะได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มอีกเดือนละ 640 บาท เป็นต้น สำหรับผู้รับบำนาญที่ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท และยังไม่เคยได้รับ ช.ค.บ.มาก่อนจะยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้ผู้รับบำนาญไปแสดงตนเพื่อยืนยันว่าไม่ได้กลับเข้ารับราชการ หรือเข้าทำงานในสังกัดราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อยื่นคำขอเบิกเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญก่อน เพื่อให้ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญแจ้งกรมบัญชีกลางให้โอนเงิน ช.ค.บ.ดังกล่าว ผู้รับบำนาญจึงจะได้รับเบี้ยหวัดบำนาญและ ช.ค.บ. รวมกันเป็นเดือนละ 10,000 บาท