รมว.คลัง และ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.)ร่วมกันแถลงผลการหารือในช่วงบ่ายวันนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วและแรงในระยะนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในเครื่องมือการดูแลค่าเงินบาทของทางการว่ามีเพียงพอแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการหลักเพิ่มเติมอีก
แต่อาจใช้มาตรการเสริมบางส่วนที่มีผลลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการให้หน่วยงานรัฐที่มีแผนจะกู้เงินจากต่างประเทศพิจารณาว่าจะสามารถปรับเป็นการกู้เงินในประเทศแทนได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า
ทั้งนี้กระทรวงการคลังและ ธปท.จะร่วมกันรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้(12 ก.ค.) รวมถึงรายงานเรื่องความสามารถในการรับมือความผันผวนของค่าเงินและการเสริมสร้างระบบในการรับมือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท.ในระยะต่อไป
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.จะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ส่งออกว่าทางการจะดูแลอย่างเต็มที่และยังมีเครื่องมือทางการเงินที่สามารถรับมือได้
ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ประเทศไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก แม้ว่าทางการจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบริหารค่าเงิน แต่คงไม่สามารถจะหยุดความผันผวนได้ พร้อมยืนยันว่ากระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีที่ได้จากกำไรในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
รมว.คลัง กล่าวว่า ทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท.จะร่วมกันสร้างระบบในอนาคตเพื่อดูแลความผันผวนของค่าเงิน และนอกจากนี้ใน พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะที่จะให้อำนาจกระทรวงการคลังในการออกพันธบัตร ในกรณีที่รัฐบาลไม่ได้ทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบขาดดุล ซึ่งจะช่วยพัฒนาตลาดทุนและให้เกิดสภาพคล่องในตลาดทุนได้
โดยเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรสามารถนำไปลงทุนต่อในพันธบัตรทั้งในหรือต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการบริหารเงินได้อีกทาง ดังนั้นในอนาคตการบริหารค่าเงินจึงจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยจนกว่า พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน กว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้
นายฉลองภพ กล่าวว่า สำหรับการใช้มาตรการเสริมให้ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกู้เงินในประเทศแทนการออกไปกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อลดแรงกดันค่าเงินบาทนั้น ในปีงบประมาณ 50 ภาครัฐมีความจำเป็นต้องกู้เงินประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คงเปลี่ยนมากู้ในประเทศส่วนหนึ่งเท่านั้น
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.กำลังผลักดันมาตรการเสริมที่จะช่วยลดแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่า โดยจะเสนอให้กระทรวงการคลังผ่อนปรนให้มีการไหลออกของเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น โดยในเบื้องต้นมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ที่จะวางแนวทางให้นักลงทุนรายบุคคลสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้นอกเหนือจากที่มีการลงทุนผ่านกองทุนรวม
นอกจากนั้น ยังจะขยายเพดานให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นำเงินออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ โดยไม่จำกัดวงเงิน
การที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในระยะนี้เป็นผลมาจากช่วงที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้มาก จากที่ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นไทยมีปัญหาจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนักขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคปรับตัวขึ้นไปแล้ว แต่หลังจากที่ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาหลังจากการเมืองชัดเจนขึ้น จึงทำให้เงินไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนก.ค.ที่มีเงินไหลเข้ามาข้างเดียว และมีการไหลออกน้อยมาก
ส่วนความเสี่ยงที่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญต่อจากนี้ คือการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้าแล้ว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินเข้ามามากถึงประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังการลงทุนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น และทำให้การส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้แต่เพียงด้านเดียว ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนหน้านี้เงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพ เนื่องจากผู้ส่งออกเข้ามาซื้อดอลลาร์มากขึ้น บวกกับตัวเลขนำเข้าในเดือนเม.ย.และพ.ค.สูงขึ้น และยังได้แรงหนุนจากการทำรีไฟแนนซ์หนี้ต่างประเทศของบางองค์กร แต่ขณะนี้เงินบาทเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว จากที่ตลาดหุ้นในระยะ 2 วันที่ผ่านมา อยู่ในช่วงการปรับฐาน ซึ่งมีการขายทำกำไรออกมาบ้าง
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ศศิธร/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--