นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศไทย จากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคการศึกษา ถกนัดสองผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา เตรียมผุดโปรเจ็คฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตการณ์โควิด ด้วยองค์ความรู้และบุคลากรด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมเสนอแนะและวิเคราะห์ความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูเร่งด่วนหลังวิกฤตการณ์โควิด โดยเชื่อว่าศักยภาพของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะช่วยเสริมพลังให้แต่ละภาคส่วนฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการทำงานร่วมกับผู้ขับเคลื่อนหลักของแต่ละภาคส่วนที่สำคัญ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ดูแลภาคบริการ การท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ดูแลภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี รวมถึงทำงานร่วมกับผู้เชี่ยาญด้านการเกษตร และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อสำรวจความต้องการในการฟื้นฟูแต่ละภาคส่วนหลังวิกฤตการณ์โควิด และนำความต้องการเหล่านั้นมาสร้างสรรค์โครงการที่ตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด
"หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในการประชุม คือ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรที่สำคัญอยู่แล้ว แต่เราจะใช้ศักยภาพให้เกิดเป็นโอกาสของประเทศได้อย่างไรหลังวิกฤตการณ์โควิด โดยแนวคิดโครงการความมั่นคงทางอาหาร มีความเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและยาวนานมาอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำเป็นต้นตอของความมั่นคงทางอาหาร และความอยู่รอดหลายชีวิต และยังเกี่ยวข้องกับด้านการส่งออกที่เน้นอาหารแปรรูป เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน รองรับแรงงานที่มีแนวโน้มคืนถิ่นและบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะมีบทบาทสำคัญ ในการใช้องค์ความรู้ด้าน อววน. มาเป็นเครื่องมือในการเสริมศักยภาพผลผลิตอาหารให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต สร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ เรามีองค์ความรู้จากบุคลากรในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ซึ่งกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ตามที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ต้องนำจุดแข็งตรงนี้มาเป็นแรงขับเคลื่อน" นายกิติพงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ชี้ให้เห็นอนาคตของการท่องเที่ยวว่าจะเน้นภายในประเทศมากขึ้น โรงแรมที่มีอยู่จำนวนมากอาจต้องเน้นไปที่การบริการเพื่อสุขภาพ ซึ่งต้องคิดต่อไปถึงบุคลากรที่มีความรู้เรื่องสุขภาพที่จะมารองรับด้วยว่าจะมาจากแหล่งใด ส่วนบทบาทของ อววน. คือ เป็นนักคิด และมีกำลังคน ดังนั้นจึงต้องไปร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในแต่ละเรื่อง เพื่อดึงความต้องการออกมา แล้วจัดทำโครงการฟื้นฟูประเทศ เมื่องบประมาณเงินกู้ออกมาเราสามารถเสนอของบสนับสนุนเพื่อทำโครงการฟื้นฟูได้ทันที
นายกิติพงค์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้สะท้อนถึงผลกระทบด้านการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนสู่ระบบออนไลน์ในช่วงวิกฤตการณ์โควิดว่า ทักษะการเรียนผ่านระบบออนไลน์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนที่เก่งจะสามารถหาความรู้จากระบบออนไลน์ได้ แต่คนบางส่วนอาจมีปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น การเรียนออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะไม่เพียงพอและไม่ใช่ทางออกของทุก ๆ อย่าง ตอนนี้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาบางแห่ง อย่างจุฬาฯ ใช้วิธีการเรียนแบบผสมผสาน คือ เรียนทั้งออนไลน์และพบครูผู้สอน รวมถึงฝึกงานกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมควบคู่ไปด้วย แล้วใช้วิธีค่อยๆ ศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรต่อไป
หลังจากรับฟังความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ สอวช. จะเร่งรวบรวมความเห็นของที่ประชุม ข้อมูลความต้องการและความจำเป็นในการฟื้นฟูแต่ละภาคส่วน เพื่อนำไปกำหนดโจทย์ออกแบบโครงการ กำหนดผู้เกี่ยวข้องให้ชัด โดยใช้เครื่องมือที่เป็นองค์ความรู้และบุคลากรด้าน อววน. มาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหลังวิกฤตการณ์โควิดต่อไป